พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล และ พล.ต.ต.ธัมมศักดิ์ วาสะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ติดตามการจัดการเรียนการสอนโครงการ “ห้องเรียนอาชีพ” ในพื้นที่ 3 อำเภอชายแดนภาคใต้ คือ อำเภอเบตง อำเภอสุคิริน และอำเภอแว้ง

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนิน “โครงการห้องเรียนอาชีพ (OBEC Career Program)“ ปีการศึกษา 2560 เพื่อต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความถนัดและความสนใจต้องการจะเรียนต่อสายอาชีพได้รับการพัฒนา โดยเน้นการฝึกทักษะประสบการณ์เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพเรียนจบแล้วมีอาชีพรองรับทันที สามารถสร้างอาชีพให้สอดคล้องกับศักยภาพในพื้นที่ได้
โดยในปีแรกเริ่มต้น 6 โรงเรียน ในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) จำนวน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนเบตง “วีระราษฎร์ประสาน” จังหวัดยะลา, โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (เชียงราย ตาก) อีก 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ จังหวัดเชียงราย, โรงเรียนแม่จันวิทยาคม จังหวัดเชียงราย, โรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก
ทั้งนี้ แต่ละโรงเรียนได้มีการประสานงานและวางแผนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนอาชีพ ร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในแต่ละพื้นที่ โดยมีการส่งเสริมความรู้พื้นฐานทางด้านการบริหารจัดการ การบริหารธุรกิจขั้นพื้นฐาน (Basic Modern Business Administrative : BMBA) ทักษะอาชีพที่สนใจ และสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เติมกระบวนการแนะแนวแบบเข้ม และการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการฝึกงานจริงในช่วงปิดภาคเรียน ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่ดี
เมื่อสำเร็จการศึกษา ผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ใน 9 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี คหกรรม การโรงแรม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างก่อสร้าง พืชศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร และช่างเชื่อมโลหะ ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ หอประชุมโรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อต้องการไปพบปะนักเรียนและรับฟังปัญหาความต้องการในสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน จำนวน 3 แห่ง ดังนี้
● โรงเรียนเบตง “วีระราษฎร์ประสาน” จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 มีนักเรียนเข้าเรียนในปีแรกจำนวน 19 คน แยกเป็นนักเรียนชาย 8 คน หญิง 11 คน เข้าเรียนชั้น ม.4/6 จำนวน 2 สาขา คือ แผนกการโรงแรม 8 คน และคหกรรม 11 คน ทั้งนี้ ได้ฝึกให้นักเรียนทุกคนแสดงความคิดเห็น ว่าต้องการให้การศึกษาของอำเภอเบตง มีการพัฒนาได้อย่างไร เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกล้าคิดวิเคราะห์และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และนำความคิดเห็นของนักเรียนไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดหลักสูตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของเด็กนักเรียนอีกด้วย

● ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพอำเภอสุคิริน สาขาวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ซึ่งเป็นศูนย์บริการทางด้านวิชาชีพในเขตบริการ 4 อำเภอ คือ อำเภอสุคิริน แว้ง จะแนะ และระแงะ มีภารกิจที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1) จัดการเรียนการสอนระดับ ปวช./ปวส. โดยมีนักศึกษา ปวช. 152 คน และ ปวส. 230 คน 2) หลักสูตรอาชีพระยะสั้น ซึ่งมีจำนวนผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้นที่เปิดสอนใน 17 รายวิชาใน 3 ปีงบประมาณที่ผ่านมาจำนวน 689 คน 3) จัดการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่ง รมช.ศึกษาธิการ เห็นว่าศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพแห่งนี้สามารถจัดการเรียนการสอนได้มีคุณภาพ จึงต้องการให้ยกฐานะศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ เป็น “วิทยาลัยการอาชีพสุคิริน” ในโอกาสต่อไป โดยมอบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประสานและจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น งบประมาณ หลักสูตร การขยายที่ดินจากปัจจุบันที่มีเพียง 12 ไร่ ให้มีไม่น้อยกว่า 50 ไร่ เพื่อเข้าเงื่อนไขการเป็นวิทยาลัยดังกล่าวต่อไป และขอให้ศูนย์ฝึกอบรมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ เช่น ภาษาต่างประเทศสำหรับมัคคุเทศก์ และด้านการท่องเที่ยว

● โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 เปิดรับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.4 ในปีนี้ รวม 3 ห้อง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างเชื่อมโลหะ และคหกรรม มีนักเรียนเข้าเรียนในปีแรกจำนวน 45 คน ซึ่ง รมช.ศึกษาธิการ ได้แสดงความชื่นชมโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนได้มีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ในหลายเรื่อง ทั้งวิชาการ ดนตรี และกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล สมดังคำขวัญของโรงเรียนคือ “ผู้รู้ดีคือผู้เจริญ” และขอให้โรงเรียนสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในสาขาวิชาที่ต้องการเปิดเพิ่ม รวมทั้งให้มีการทำงานบูรณาการในลักษณะการทำงานสานพลังประชารัฐ คือ ความร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานภายใน/ภายนอก ความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสฝึกงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือกับภาคประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษา อันจะส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนความต้องการของโรงเรียน เช่น อาคารหอประชุมนั้น มอบให้โรงเรียนประสานกับ สพม.15 เพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอให้ สพฐ. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างให้ตามความจำเป็นต่อไป

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
17/7/2560