หารือกับ ผอ.สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ

ผอ.สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เข้าเยี่ยมคารวะ

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายวัชรินทร์ จำปี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่และหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน 2558 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม

Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ กล่าวขอบคุณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้การสนับสนุนในการจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2558 ที่โรงแรม Royal Cliff Grand จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะการประชุมระดับนโยบาย ในหัวข้อ “Digital Learning for Creating Future Global Citizens” ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการดำเนินการเกี่ยวกับ Digital Learning อย่างเข้มข้นและมีความก้าวหน้า ซึ่งสำนักงานฯ ได้ดำเนินความร่วมมือด้านดังกล่าวกับกระทรวงศึกษาธิการไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เชื่อว่าประเทศสมาชิกซีมีโอจะสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันในระหว่างการประชุมได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีที่จะมีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (องค์การซีมีโอ) ในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การฯ และศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคฯ จึงมั่นใจว่าภายใต้การนำของ รมว.ศึกษาธิการในฐานะประธานสภาซีเมคคนต่อไป จะสามารถรวมพลังความร่วมมือของศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคฯ เข้าด้วยกัน และสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอื่นได้ โดยหลังจากได้รับทราบข้อคิดเห็นของ รมว.ศึกษาธิการของประเทศสมาชิกซีมีโอในระหว่างการประชุมฯ ก็จะดำเนินการภายใต้ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคฯ ที่มีอยู่ เพื่อให้กิจกรรมและโครงการขององค์การซีมีโอบรรลุผลสำเร็จ

ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง เนื่องจากมีการเดินทางมาไทยมากกว่า 10 ครั้ง จึงได้พยายามสร้างกิจกรรมและโครงการต่างๆ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกซีมีโอ จากนี้ จะมีการนำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมและโครงการให้แก่ รมว.ศึกษาธิการไทยรับทราบเป็นระยะ รวมถึงกิจกรรมและโครงการที่จะดำเนินการในช่วงต่อไป

ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาครูในภูมิภาค เพราะครูเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา การเชื่อมโยงครูของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันจะช่วยให้การพัฒนาครูประสบความสำเร็จมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรดำเนินความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกด้วย เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะจำนวนมาก จึงจะขอหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสร้างเครือข่ายครูและการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นของการอาชีวศึกษาในโอกาสต่อไป

ในการนี้ ขอขอบคุณ รมว.ศึกษาธิการที่ให้คำแนะนำ และจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานฯ ประสบความสำเร็จ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมขององค์การซีมีโอจะสำเร็จได้ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และภาคีเครือข่าย เนื่องจากศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคฯ มีจำนวนถึง 21 แห่งกระจายอยู่ในหลายประเทศ การจะประสานการดำเนินงานให้สอดคล้องกันได้ก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอในการบริหารจัดการงานให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยเชื่อมั่นว่าผู้อำนวยการฯ จะสามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

โดยส่วนตัว ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการในเวลาไม่นานนัก อาจทำให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องของกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ขององค์การซีมีโอมีไม่มาก จึงต้องขอความรู้ ข้อแนะนำจากผู้อำนวยการฯ หากมีข้อแนะนำก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง และในฐานะประธานสภาซีเมค ก็จะให้ความร่วมมือกับในการดำเนินงานกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เพื่อให้การประสานงานเกี่ยวกับโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับการประชุมสภาซีเมคครั้งนี้ เชื่อว่ามีการเตรียมการพร้อมแล้ว จึงไม่รู้สึกหนักใจ แต่ก็ต้องมีการประสานดำเนินการอย่างใกล้ชิดในระหว่างการประชุมด้วย

สำหรับข้อเสนอของผู้อำนวยการฯ เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายครู เห็นด้วยว่าครูเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนเด็กให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็พยายามพัฒนาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของครู ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา นอกจากใช้การพัฒนาครูแบบเดิมแล้ว ก็มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการพัฒนาครูที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากประเทศสมาชิกมีแนวทางในการพัฒนาครูที่ดำเนินการประสบความสำเร็จ เห็นควรนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นได้รับทราบ นำไปดัดแปลงใช้กับประเทศของตนได้อย่างเหมาะสม

ในส่วนของความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา เชื่อว่าปัจจุบันเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาแล้วจะต้องมีงานทำ การพัฒนาขีดความสามารถด้านการอาชีวศึกษาจึงมีความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำงานและพัฒนาประเทศต่อไป สมาชิกซีมีโอหลายประเทศที่มีการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษาได้ดีและประสบความสำเร็จ แต่ละประเทศอาจมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เช่น บางประเทศเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ บางประเทศอาจเชี่ยวชาญด้านการเกษตร หรือการบริการ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกอื่น เชื่อว่าด้วยขีดความสามารถของสำนักงานฯ จะสามารถประสานกับประเทศสมาชิกที่มีความสามารถและความรู้ในแต่ละสาขา ให้นำประสบการณ์ ความสำเร็จ มาใช้เป็นข้อมูลขององค์การฯ และจัดกิจกรรมหรือโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวแก่ประเทศสมาชิก อาจเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากร เช่น ครู นักเรียนหรือนักศึกษา ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น มีความยินดีที่จะให้มีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในโอกาสต่อไป รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นที่อาจเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกซีมีโอด้วย

สุดท้ายนี้ กระทรวงศึกษาธิการไทยยินดีให้การสนับสนุนและความร่วมมืออย่างเต็มที่ หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้อง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม รวมถึงเรื่องสถานที่ทำงาน ขอให้แจ้งมาที่กระทรวงเพื่อให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา หากมีโอกาสก็จะเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานฯ และศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคต่างๆ ในโอกาสต่อไป

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
30/4/2558