หารือความร่วมมือกับจีน

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายหนิง ฟู่ขุย (H.E. Mr. Ning Fukui) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีมายาวนาน ซึ่งในปี 2558 จะครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ความสัมพันธ์ทั้งในระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล และระดับประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น ที่สำคัญคือมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยกับกระทรวงศึกษาธิการจีนในหลายเรื่อง เช่น การลงนามในบันทึกความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษามาแล้วหลายฉบับ

นอกจากนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากจีนในการส่งครูอาสาสมัครชาวจีนจำนวนมากมาสอนภาษาจีนในสถานศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยลดปัญหาในการจัดหาครูที่มีความรู้ด้านภาษาจีนมาสอนได้มาก ถึงแม้ว่าในปี 2557 จะมีการส่งครูอาสาสมัครชาวจีนมาประเทศไทยกว่า 1,800 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนสถานศึกษาที่ต้องการเปิดสอนภาษาจีน เนื่องจากมีนักเรียนให้ความสนใจเรียนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก จึงหวังว่ารัฐบาลจีนจะสนับสนุนการส่งครูอาสาสมัครชาวจีนมาสอนในประเทศไทยไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษาระหว่างไทยกับจีนก็เป็นไปด้วยดี แต่ยังไม่สามารถขยายขอบเขตได้มากนัก ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการพยายามการจูงใจให้เยาวชนหันมาศึกษาในสายอาชีวศึกษามากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ การท่องเที่ยว และการพาณิชย์ ในอนาคตต้องการให้มีการผลิตนักเรียนนักศึกษาที่จบสาขาที่ตรงตามความต้องการของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนให้การสนับสนุนการสร้างรถไฟรางคู่ในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านดังกล่าวโดยตรง โดยเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาของจีนมีความน่าสนใจและนำมาศึกษาเพื่อเป็นแบบอย่างได้ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่สามารถจัดระบบการศึกษาได้เป็นอย่างดี

โอกาสนี้ ขอขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ และหวังว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศจะมีความมั่นคงและแน่นแฟ้นต่อไป

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ กล่าวถึงความประทับใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเทศ และประทับใจรัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาธิการไทยที่ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งรัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้นโดยเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน

ความร่วมมือด้านการศึกษา ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบว่านักศึกษาจีนเดินทางมาศึกษาต่อในประเทศไทยมากกว่า 22,000 คน เป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทย อีกทั้งปัจจุบันวัฒนธรรมไทยมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของชาวจีนมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก ส่งผลให้เยาวชนจีนสนใจศึกษาต่อในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

ปัจจัยสำคัญในการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยคือ การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนให้มีคุณภาพ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนผู้เรียน ดังนั้น ในการส่งครูอาสาสมัครชาวจีนมาสอนภาษาจีนในประเทศไทยในปี 2558 จะเน้นที่คุณภาพของครู เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ครูอาสาสมัครชาวจีนจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาได้ดีแต่ขาดทักษะและประสบการณ์ในการสอน จึงต้องเน้นการพัฒนาครูอาสาสมัครที่มีความสามารถในการสอนด้วย

นอกจากนี้ จีนมีความเห็นสอดคล้องว่า ควรเร่งการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรถไฟรางคู่ ไปพร้อมกับการดำเนินการสร้างรถไฟรางคู่ ทั้งยังกล่าวด้วยว่าหาก รมว.ศึกษาธิการ มีความประสงค์ที่จะเดินทางเยือนจีน สามารถติดต่อและประสานเรื่องกำหนดการกับฝ่ายการศึกษาของสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ได้

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
30/3/2558