สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – Mr. Bijaya Rajbhandari ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำสำนักงานประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหารือความร่วมมือด้านการศึกษา โดยมีนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการหารือดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุม สกอ.ชั้น 4
ผู้แทนองค์การยูนิเซฟฯ กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อจัดสัมมนาเรื่อง “Public Expenditure Tracking Survey” หรือ PETS เพื่อพัฒนาการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และได้เสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนาการและดูแลเด็กปฐมวัย การปกป้องคุ้มครองเด็กจากการลงโทษโดยใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา การดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาแบบทวิภาษา ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์การยูนิเซฟ สถาบันภาษาศาสตร์ SIL นำโดย ผศ.ดร. เคิร์ก เพอร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาวิทยาลัยของไทย
ในการนี้ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟฯ ได้เสนอความร่วมมือในการขยายโครงการดังกล่าว การให้คำแนะนำและการวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ ทั้งนี้ ต้องการให้มีการหารือการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
รมว.ศธ. กล่าวถึงการหารือในครั้งนี้ว่า เรื่องที่ทางยูนิเซฟเสนอมาเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย การปกป้องคุ้มครองเด็กจากการลงโทษโดยใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา การดูแลสถานศึกษาขนาดเล็ก และระบบในการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ จึงเห็นด้วยที่จะต้องมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องกันเป็นระยะ
การจัดสรรและวิเคราะห์งบประมาณ ต้องการให้มองจากภาพรวม เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา
การดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องหนึ่งที่ ศธ.ให้ความสำคัญ โดยจะต้องหารูปแบบหรือวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลสถานศึกษาขนาดเล็ก คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ซึ่งมีมากถึงเกือบ 6 พันโรง แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีความสับสน เข้าใจผิดกันไปมาก ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กลายเป็นว่าเราปล่อยปละละเลยนักเรียนเหล่านี้ ก็ต้องรีบหาวิธีดูแล จึงได้เสนอสภาพปัญหาทางสังคม ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งยังคลาดเคลื่อนอยู่มากให้กับทางผู้แทนยูนิเซฟฯ เพื่อจะได้ช่วยกันคิดและหาทางแก้ไขในภาพรวมต่อไป
การดูแลและป้องกันเด็กจากการลงโทอย่างรุนแรงในสถานศึกษา ก็มีคณะทำงานดำเนินการร่วมกันอยู่ มีการสำรวจปัญหาต่างๆ สิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องเน้นการสร้างทัศนคติของครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้เห็นความสำคัญของการหลีกเลี่ยงการลงโทษนักเรียน และหาวิธีที่จะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข อาจจะต้องมีการหารือกันในเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้เด็กสนใจเรียน วิธีการในเชิงจูงใจให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เรื่องเหล่านี้จะต้องมีการรวบรวมองค์ความรู้มาให้แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา หากบอกแต่ว่าห้ามลงโทษ แต่ไม่บอกวิธีการให้ครูจูงใจให้เด็กสนใจเรียน ก็จะทำให้ครูอาจารย์ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร
การสอนทวิภาษาในสถานศึกษาหรือในพื้นที่ที่นักเรียนใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาแม่ ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการนำร่องไปบ้างแล้วในภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการไปแล้ว 11 โรง มีความคืบหน้ามากพอสมควร และ ศธ.ยินดีให้การสนับสนุนในการนำเอาวิธีการหรือโครงการนำร่องขยายออกไปในวงกว้างขึ้น แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง และต้องมาคิดระบบ วิธีการในการฝึกอบรมครู หาครูที่รู้ทั้งสองภาษา คือภาษาถิ่นและภาษาไทย และเห็นว่าโครงการลักษณะนี้ สามารถดำเนินการในจังหวัดอื่นหรือภาคอื่นของประเทศได้ด้วยทุนองค์การยูนิเซฟ ที่จะได้รับการจัดสรรและวิเคราะห์งบประมาณในภาพรวมมาให้ เพื่อดูถึงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรสำหรับการศึกษาต่อไป
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
24/11/2556