หารือกับเกาหลี

ศึกษาธิการ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ นายช็อน แจ มัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม




นายช็อน แจ มัน กล่าวว่า เกาหลีให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่สำคัญต่อเกาหลีด้วย เนื่องจากมีผู้สนใจศึกษาภาษาเกาหลีและศึกษาต่อในประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ทางเกาหลีได้ส่งครูสอนภาษาชาวเกาหลีกว่า 60 คน เพื่อมาสอนครูไทยที่สอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษาต่างๆ โดยได้แสดงความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในการสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษาของไทยอย่างเต็มที่ และขอให้ ศธ.สนับสนุนให้มีการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษาของไทย โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น รวมถึงเกาหลีจะมีการเพิ่มทุนรัฐบาลเกาหลี เพื่อเพิ่มจำนวนนักเรียนไทยที่ศึกษาต่อในเกาหลี และนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ


รมว.ศธ. กล่าวยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการเพิ่มจำนวนนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับเกาหลี ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยของไทย ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้สนใจศึกษาภาษาเกาหลีมากน้อยเพียงใด หากมีผู้สนใจมาก ก็อาจจะเพิ่มวิชาภาษาเกาหลีเข้าไปในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็จะช่วยส่งเสริมให้ได้มากที่สุด


ระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาหลายอย่างที่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น คุณภาพของระบบและการจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาภาษาต่างประเทศ ที่เน้นเรื่องของคำศัพท์และไวยากรณ์มากกว่าการสอนให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ จำนวนนักเรียนในห้องเรียนมากเกินไป และการเรียนภาษาโดยไม่มีวิชาสนทนา จึงต้องการให้ทางเกาหลีส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ มาช่วยกันออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอน รวมทั้งการศึกษาในยุคใหม่ เพื่อสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา หรือที่ทางเกาหลีทำเป็น Smart School


ขณะนี้ รัฐบาลและ ศธ.ได้มีนโยบายที่สำคัญ คือ การปฏิรูปการอาชีวศึกษา โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และประเทศที่มีการลงทุนในไทย ซึ่งจะมีการสำรวจความต้องการแรงงานที่มีทักษะ จึงต้องการการสนับสนุนจากเกาหลีในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาเพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้จบการอาชีวศึกษา ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรมในสถานศึกษา การฝึกอบรมในสถานประกอบการ ซึ่งเห็นว่าการร่วมกันดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย


นอกจากนี้ ศธ. ต้องการส่งครูจากอาชีวศึกษาไปเยี่ยมชมสถานศึกษา Smart School ในประเทศเกาหลี เพื่อศึกษาและเรียนรู้ระบบการศึกษาดังกล่าว และนำไปสู่การดำเนินโครงการนำร่องด้าน Smart School ในไทย รวมถึงเข้าร่วมการฝึกอบรมระยะสั้น หรือ “Short Course Training” อีกด้วย


กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
22/11/2556