หารือกับหอการค้าไทย

ศึกษาธิการ – นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าพบและหารือกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาของประเทศ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม MOC โดยมีนายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม




รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการประชุมระดมความคิดเพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย เรื่อง “การปฏิรูปอาชีวศึกษา” เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2556 นั้น ที่ประชุมเห็นด้วยในความร่วมมือการผลิตกำลังคน ที่จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอให้มีการจัดองค์กรที่จะทำงานร่วมกันระหว่าง สอศ. กับภาคเอกชน ที่จะมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค ลงมาจนถึงระดับจังหวัด และสถานศึกษา เพื่อร่วมกันวางแผนเตรียมกำลังคน การผลิต และพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น จนถึงระยะยาว


ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตั้งคณะกรรมการร่วม และคณะทำงานร่วมในแต่ละ Sector ของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะเป็นบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นตามความต้องการของประเทศ


จากการหารือร่วมกันในครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ สรุปดังนี้


1) การซักซ้อมให้เห็นถึงการทำงานร่วมกัน ในการมีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศตลอดกระบวนการ นับตั้งแต่ร่วมกันกำหนดจำนวนคนที่ต้องการ การจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรม การฝึกงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมการไปสำรวจและเตรียมดำเนินการต่อไป ซึ่งได้ฝากให้หอการค้าฯ หาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมจัดทำหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรร่วมกันให้มากขึ้น


2) ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รายงานให้รับทราบถึงโครงการของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ และตรงกับความต้องการในสาขาเป็นความต้องการของประเทศ เช่น สาขาโลจิสติกส์ ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โท และเอก มากว่า 10 ปีแล้ว เป็นสาขาที่สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ และขณะนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นหลายแห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะในเรื่องรถไฟความเร็วสูง ที่จะต้องติดตามถึงวิธีคิด วิธีบริหารจัดการของญี่ปุ่น เพื่อดูกระแสและความต้องการของผู้เรียน และให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ


นอกจากนี้ ได้รับทราบในสาขาที่มหาวิทยาลัยไปเปิดสอนในประเทศเพื่อนบ้านแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และส่งผลต่อการรับนักศึกษาเข้ามาเรียนในประเทศไทย แต่ปัญหาที่พบคือ ติดขัดกับกฎระเบียบของไทยหลายด้าน เช่น ปัญหาการต่อวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติที่จะต้องต่อทุกๆ 6 เดือน ส่วนครูผู้สอนชาวต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบกับระเบียบกฎหมายในการขออนุญาตเข้ามาสอนและต่อวีซ่าทุก 2 ปี นอกจากนี้นักเรียนจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาศึกษาต่อในไทยที่เรียนไม่ครบ 12 ปีก็ต้องไปสอบ GED (General Educational Development) ซึ่งเป็นการสอบที่เทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายในประเทศไทยก่อน ในขณะที่นักเรียนไทยเรียน 11 ปี ก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ถือเป็นความลักลั่นสับสนกันพอสมควร


ในส่วนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีความชำนาญในการสอนภาษาต่างประเทศที่สอดคล้องกับภาคการผลิต ก็จะมีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยได้ขอให้มีการจัดเสวนาต่างๆ ร่วมกัน เพื่อร่วมพัฒนาการสอนภาษาต่างประเทศของไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น


3) ความร่วมมือของภาคเอกชนในการจัดและสนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ ศธ.ที่มีนโยบายเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น แต่ยังขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูล จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศธ. เชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลจัดการศึกษาเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ตรงกับนโยบายของ ศธ.เป็นอย่างมาก คือ หลักสูตรระยะสั้นต่างๆ ที่เปิดสอนผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน เช่น การสอนภาษาอังกฤษ ซึ่ง ศธ.กำลังให้ความสนใจการสอนภาษาต่างประเทศแบบเข้มข้น ก็จะคิดโครงการร่วม ที่อาจจะให้ผู้เรียนเรียนต่อเนื่องเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ซึ่งจะได้ผลคือจบแล้วใช้การได้ ภาคการผลิตจะได้รับประโยชน์ในหลักสูตรเช่นนี้เป็นอย่างมาก


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
16/10/2556