ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
ในส่วนของ
ในส่วนของการปรับโครงสร้าง ศธ.ที่ผ่านมา มีการควบรวมสภาการศึกษาและทบวงมหาวิทยาลัยมาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน ทำให้ ศธ.กลายเป็นกระทรวงใหญ่ และเกิดปัญหาเรื่องการจัดการดูแลในเรื่องต่างๆ จึงได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ไปพิจารณาและศึกษาว่าสมควรจะแยกหน่วยงานหรือปรับโครงสร้างกระทรวงหรือไม่ หากผลการศึกษาในเบื้องต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะดำเนินการในขั้นต่อไป
นอกจากนี้ ศธ.จะได้หารือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในเรื่องปัญหาของการประเมินสถานศึกษาที่ผ่านมา อาจจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์การประเมิน รวมถึงการหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการประเมินบุคลากรด้วย ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) อยู่ระหว่างการปรับเกณฑ์การประเมินเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ. เพื่อขอมติเห็นชอบ ในส่วนของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ ก็ได้มอบให้ ก.ค.ศ.ดำเนินการแก้ไข อีกทั้งได้จัดทำกฎหมายใหม่เพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไปแล้ว
ย้ำว่าหลากหลายปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมามีการแก้ไขไม่ตรงจุด หรือมีปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการไม่คืบหน้าไปได้เท่าที่ควร แต่เชื่อว่าในปีนี้หลายเรื่องจะมีความคืบหน้า เนื่องจากมีการร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้การศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่บางเรื่องอาจจะใช้เวลาหลายปีจึงจะเห็นผลได้อย่างชัดเจน
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. กล่าวว่า การมีส่วนร่วม คือ ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงต้องการความร่วมมือกับ ศธ. ตามภารกิจ “ต้องเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยการปฏิรูปการศึกษา” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 27 ซึ่งการศึกษามีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความปรองดอง โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ามีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น ปลายเดือนธันวาคมนี้จะส่งประเด็นเพื่อปฏิรูปการศึกษาให้คณะกรรมาธิการฯ ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ดังนั้นบางประเด็นที่หารือร่วมกันในครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายบริหารของ ศธ. แล้ว บางประเด็นอาจจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ในขณะเดียวกันบางประเด็นอาจจะมีผลต่อการปฏิรูปประเทศต่อไป
ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาคีการปฏิรูป 4 ภูมิภาค รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียของการจัดการศึกษา องค์กรวิชาชีพ และคณะทำงานร่วมระหว่าง ศธ.กับคณะกรรมาธิการฯ ด้วย โดยจะจัดให้มีการรับฟังประชาพิจารณ์การมีส่วนร่วมต่อไป
สำหรับการหารือในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีประเด็นข้อเสนอต่อ ศธ. ดังนี้
ประเด็นการหารือในระยะเร่งด่วน 20 เรื่อง
– แนวทางการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
– การเข้าสู่ตำแหน่ง เลื่อนขั้น การย้าย
– การจัดกลุ่มและเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
– ผู้รับผิดชอบต่อผลการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่และการติดตามผล
– การขาดแคลนวิชาการบางสาขา
– หลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลไม่ครอบคลุม
– การผลิตครูรุ่นใหม่ รวมทั้งแรงจูงใจสำหรับอาชีพครู
– ข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ ทำให้ใช้กฎหมายไปในทางที่ผิด
– การเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
– ปัญหาโครงสร้างของ ศธ.ที่ไม่เอื้อต่อการจัดการศึกษาให้เกิดคุณภาพ
– การยกสถานะสภาการศึกษาให้เป็นสภาวิจัยทางการศึกษาของประเทศ
– ปัญหาระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (แอดมิชชั่น)
– การแยกอุดมศึกษา เป็นกระทรวง/ทบวง
– การแยกอาชีวศึกษา เป็นกระทรวง/ทบวง
– การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
– ปัญหาการประเมินของ สมศ.กับการตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษา
– การปฏิรูปคุรุสภา ให้เป็นสภาวิชาชีพ
– การปฏิรูป สกสค.ให้สามารถจัดสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นสถาบันทางการเงิน
– การแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารเสริม (นมและอาหารกลางวัน) อย่างครบวงจรและมีคุณภาพ
– การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับข้อตกลงของประชาคมอาเซียน ได้แก่ การเรียนการสอนภาษาอาเซียนตามกฎบัตรของอาเซียน
ประเด็นการหารือในระยะกลางและระยะยาว 4 เรื่อง
– การปฏิรูปอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา
– การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน
– การปฏิรูปการกีฬา
– แนวทางและนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โครงสร้าง หลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล เป็นต้น
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
5/11/2557