หนังสือเรียนปี 2557

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือเรียน และคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. เพื่อวางแผนกระบวนการจัดพิมพ์และจัดส่งหนังสือเรียนให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2557 อย่างมีคุณภาพ ด้วยราคาที่ยุติธรรม

  • หารือกับผู้บริหารของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จัดพิมพ์หนังสือเรียน
    เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้หารือกับผู้บริหารของสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 30 คน เกี่ยวกับปัญหาในการจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้ทันถึงมือเด็กก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2557 เพราะที่ผ่านมามักเกิดความล่าช้ามาโดยตลอด บางปีนักเรียนได้รับหนังสือเรียนล่าช้ากว่า 1 เทอมหรือ 1 ปี ทำให้เด็กเสียโอกาสอย่างมาก ซึ่งจากการหารือครั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้ พบว่ามีปัญหาและข้อเสนอแนะหลายด้าน เช่น


– งบประมาณโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ
 
ที่ผ่านมาโรงเรียนจะได้รับเงินจัดสรรตาม 5
รายการในโครงการเรียนฟรีฯ โดยใช้วิธีทยอยจัดสรรเป็นจำนวนร้อยละ 70
ของยอดนักเรียนปีที่ผ่านมาไว้ก่อน และจะมีการสำรวจเพื่อจัดสรรเพิ่มให้อีกร้อยละ
30
เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน
หากงบประมาณไม่พอสำหรับจัดซื้อหนังสือเรียน
ก็ให้นำงบประมาณจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาจัดซื้อหนังสือไปก่อน
แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าดำเนินการ
เพราะเกรงจะเกิดความยุ่งยากและปัญหาอื่นๆ
ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่จัดซื้อหนังสือเรียนได้เพียงร้อยละ
70 เท่านั้น ทำให้นักเรียนอีกร้อยละ
30
ได้รับหนังสือเรียนไม่ครบถ้วนก่อนเปิดภาคเรียน
จึงขอให้ไปคิดวิธีอื่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

– กระบวนการจัดพิมพ์และจัดส่งหนังสือเรียน ส่วนใหญ่องค์การค้าของ สกสค.จัดพิมพ์ไม่ทันก่อนเปิดภาคเรียน ยกเว้นปีที่ผ่านมาที่ได้เร่งรัดจนสามารถจัดพิมพ์ได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน แต่ก็พบว่ากระบวนการในการจัดส่งหนังสือเรียนไปยังโรงเรียนจำนวนมากไม่ทันอยู่ดี ส่งผลให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาด้วย อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. ยืนยันว่ามีการวางแผนกระบวนการการจัดพิมพ์ที่จะทันก่อนเปิดภาคเรียนอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีการวางแผนหารือร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ สำนักพิมพ์ได้ยกตัวอย่างปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มักได้รับการจัดส่งล่าช้า เพราะระยะทางที่อยู่ห่างไกล ยอดขนส่งไม่คุ้มทุน หากมีการวางแผนให้โรงเรียนขนาดเล็กมารับที่เขตพื้นที่การศึกษา จะช่วยให้รับหนังสือได้เร็วขึ้น

– การจัดทำระบบข้อมูลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค.ไม่มีระบบข้อมูลที่ชัดเจนทั้งประเทศถึงการดำเนินงานด้านการจัดพิมพ์หนังสือเรียน จึงขอให้ศึกษาข้อมูล 10 ปีย้อนหลังว่า พบปัญหาด้านใดบ้าง การบริหารการเงิน ในส่วนของเงินอุดหนุน เงินลงทุน และเงินหมุนเวียน เป็นไปในทิศทางใด รวมทั้งวางแผนงานสำคัญๆ ที่จะพัฒนาและปรับปรุงการทำงานในอนาคตอย่างชัดเจนด้วย

– การพัฒนาคุณภาพหนังสือเรียน ที่ผ่านมาโรงเรียนของรัฐได้จัดซื้อหนังสือเรียนในจำนวนที่ถูกที่สุดไว้ก่อน จึงทำให้สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จัดพิมพ์ เพียงเพื่อให้ผ่านมาตรฐานเท่านั้น เพื่อให้สามารถขายได้ ต่างจากโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่จะเลือกซื้อหนังสือเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า แม้ราคาจะแพงกว่าก็ตาม

– ราคาหนังสือเรียน ในต่างประเทศมีวิธีการทำให้ราคาหนังสือเรียนมีราคาถูก เช่น หากรู้จำนวนการพิมพ์ที่แน่นอน จะทำให้ต้นทุนในการพิมพ์ถูกลง หรือหากหลักสูตรไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทางสำนักพิมพ์ก็สามารถวางแผนการพิมพ์ล่วงหน้าไว้ได้ ฯลฯ นอกจากนี้ในต่างประเทศก็มีระบบที่จัดส่งหนังสือเรียนได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ เพื่อวางระบบรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมที่จะทำให้หนังสือเรียนมีคุณภาพ ในราคาที่ยุติธรรม

– กระบวนการจัดซื้อหนังสือเรียน สำนักพิมพ์ได้เสนอว่าควรโอนงบประมาณโดยตรงให้โรงเรียนไปจัดซื้อได้เองกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ตามความต้องการในแต่ละสาขาวิชา และกำชับให้โรงเรียนเข้าใจว่าใน 3 กลุ่มสาระหลัก คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย โรงเรียนต่างๆ สามารถเลือกซื้อได้เองโดยตรงกับภาคเอกชน ไม่จำกัดเฉพาะองค์การค้าของ สกสค.เท่านั้น

– ให้การแข่งขันควรเป็นไปโดยเสรี ไม่มีการผูกขาด เพื่อต้องการให้ทุกสำนักพิมพ์เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่ผูกขาด ในราคาที่ยุติธรรม มีความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

รมว.ศธ. ย้ำว่า ต้องการให้ตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ องค์การค้าของ สกสค. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงาน กศน. ฯลฯ กับสำนักพิมพ์ โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธาน เพื่อวางแผนแก้ปัญหาในเรื่องนี้ร่วมกันโดยเร็ว โดยขอให้ยึดผลประโยชน์ของนักเรียนและโรงเรียนเป็นหลัก นอกจากนี้ขอให้มีการรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ จากการหารือร่วมกัน พร้อมทั้งวางแผนจัดทำกรอบปฏิทินการดำเนินงานที่กำหนดเวลา (Timing) ไว้อย่างชัดเจน  เพื่อให้สามารถแก้ปัญหากระบวนการจัดพิมพ์และจัดส่งหนังสือเรียน เสร็จทันก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2557 อย่างมีคุณภาพ และได้ราคาที่ยุติธรรม

  • หารือกับคณะกรรมการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
    เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุมเทพหัสดิน สกสค.

นายสมมาตร มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้สรุปแผนการพิมพ์หนังสือเรียน ปีการศึกษา 2557 มีสาระสำคัญสรุปดังนี้

– การผลิตหนังสือเรียน ปีการศึกษา 2557 มียอดหนังสือเรียนที่มีไว้จำหน่ายประมาณ 38 ล้านเล่ม จัดพิมพ์แล้วเสร็จ19 ล้านเล่ม และอยู่ระหว่างการผลิต 19 ล้านเล่ม ซึ่งองค์การค้าของ สกสค.มีกำลังการผลิต 400,000 เล่มต่อวัน จึงคาดว่าจะสามารถจัดพิมพ์ได้ทันเวลาที่เหลืออีก 50 วัน

– หลักเกณฑ์การพิมพ์หนังสือเรียน พิจารณาจากยอดหนังสือเรียนคงเหลือปีที่ผ่านมา และการคาดคะเนยอดขาย รวมทั้งจะจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้เพียงพอต่อการจำหน่าย แต่ก็ต้องคงเหลือหนังสือน้อยที่สุด และที่สำคัญคือสามารถจัดส่งให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน

– ระบบการจัดจำหน่ายหนังสือเรียน เนื่องจากระบบเดิมที่ขายผ่านร้านขายส่งเกิดปัญหาด้านการโอนเงิน ส่งผลทำให้การจัดส่งหนังสือเรียนล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ องค์การค้าของ สกสค.จึงได้แก้ไขโดยการขายหนังสือให้กับโรงเรียนโดยตรง ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดประจำเขตพื้นที่การศึกษา/ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ประจำโรงเรียน/ทำเลทอง และขายให้ร้านขายส่ง อีกประมาณร้อยละ 30 รวมทั้งได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนจัดซื้อหนังสือเร็วขึ้น คือในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

ระบบการจัดส่ง จะเริ่มจัดส่งหนังสือเรียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และจัดส่งให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ด้วยช่องทางการจัดส่งต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยรถขององค์การค้าของ สกสค.และรถเช่าขององค์การค้าของ สกสค.ไปยังสถานศึกษา บริษัทเอกชนขนส่งไปยังสถานศึกษา/ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ประจำโรงเรียน/ทำเลทอง/ร้านค้าเอกชน จัดส่งโดยเจ้าหน้าที่การตลาดภูมิภาค และร้านค้าเอกชนนำรถมารับสินค้าเพื่อจัดส่งให้สถานศึกษาต่อไป

– การดำเนินงานในอนาคต องค์การค้าของ สกสค.มีแผนที่จะเปิดร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ประจำโรงเรียนและทำเลทอง จำนวน 300 ร้านค้าให้ครอบคลุม 185 เขตพื้นที่การศึกษา ภายใน 3 ปี โดยระยะเริ่มต้นในปี 2557 ตั้งเป้าหมายเปิดร้านให้ครบทุกจังหวัดรวม 77 ร้าน และจะจัดทำหนังสือเรียนนวัตกรรมใหม่รูปแบบ Digital Content ผ่าน Smartphone/Tablet ที่นักเรียนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมโดย Scan QR Code เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทบทวนและฝึกฝนบทเรียนด้วยตนเอง เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ นักเรียนได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ และเป็นการยกระดับความสามารถในการเรียนและการแข่งขันกับนานาประเทศสอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.

รมว.ศธ.กล่าวฝากให้ช่วยคิดว่า จะทำอย่างไรให้ค่าหนังสือเรียนตามโครงการเรียนฟรีฯ เป็นค่าใช้จ่ายของหนังสือเรียนจริง ใช้สำหรับซื้อหนังสือเรียนจริง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนที่น้อยมากอยู่แล้ว หากจะต้องนำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้จ่ายในส่วนอื่นอีก ก็จะทำให้นักเรียนได้หนังสือที่ไม่มีคุณภาพ และไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน รวมทั้งเรื่องส่วนลดค่าหนังสือ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือของผู้เลือกซื้อ หมายถึงครู จะทำอย่างไรให้ส่วนลดไม่ตกกับผู้้เลือกซื้อ และหากผู้เลือกซื้อสามารถเลือกได้ดี ควรจะมีแรงจูงใจอะไรที่จะมอบให้หรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ศึกษาข้อมูล 10 ปีย้อนหลังว่า การดำเนินงานด้านการจัดพิมพ์หนังสือเรียนพบปัญหาด้านใดบ้าง การบริหารการเงินทั้งเงินอุดหนุน เงินลงทุน และเงินหมุนเวียนเป็นไปในทิศทางใด รวมทั้งแผนงานสำคัญๆ ที่จะพัฒนาและปรับปรุงการทำงานในอนาคต

จากการรับฟังการดำเนินงาน ต้องขอแสดงความชื่นชมที่องค์การค้าของ สกสค.ได้มีความพยายามพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน และคิดค้นรูปแบบและวิธีการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่า การดำเนินงานด้านการศึกษาของ ศธ. ส่วนใหญ่จะขาดการรวบรวมข้อมูล ข้อมูลด้านต่างๆ ไม่เพียงพอ และบางส่วนที่มีข้อมูลก็ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร จึงขอให้ช่วยกันจัดทำระบบข้อมูลเพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพต่อไป

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
25/12/2556