สานพลังเดินหน้าผ่าทางตันวิกฤติการศึกษา

          Reform Showcase: การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0 เป็นหัวข้อเสวนา สานพลังเดินหน้าผ่าทางตันวิกฤติการศึกษา โดย 4 องค์กรขับเคลื่อนการศึกษาไทย ร่วมเสนอ 4 แนวทางใหม่ของการปฏิรูปด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพิ่มขีดความสามารถเด็กไทยปรับตัวเข้ากับโลกอนาคต โดยมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เป็นหัวเรือใหญ่จัดขึ้น เวทีนี้มีทั้งคำถาม ข้อเสนอความเห็นที่แตกต่าง เพื่อมีส่วนช่วยผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทยร่วมกันอีกครั้ง
          ในศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและครอบคลุมหลายมิติ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกตระหนักว่ารูปแบบการศึกษาที่ใช้วิธีการแบบเก่าก่อนศตวรรษที่ 21 ดูด้อยประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของโลกได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับ “ไทย” ที่กำลังการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้แก่ทัศนคติใฝ่การเรียนรู้ ทักษะการคิดสร้างสรรค์การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รวมถึงความรู้พื้นฐานที่สำคัญ
          นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิชัย วีระไวทยะ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอนโยบาย Public School นโยบายใหม่ที่ให้อิสระโรงเรียนในการบริหารจัดการและคัดเลือกบุคลากรได้เอง ด้วยการสร้าง Partnership School เพื่อให้การปฏิรูประบบการศึกษา ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม Partnership School เป็นนโยบายเพื่อปรับรูปแบบบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวและเป็นอิสระมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะเอกชน สถานประกอบการและหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนเริ่มพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยได้
          จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากรและหลักสูตรวิชาการ และได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงคัดเลือกภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนต้นแบบเหล่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
          ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ตัวแทนเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP)นำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษา ด้วย Social Movement เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาภาคประชาชน เพราะเห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามากว่า 20 ปีแต่ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนจากบนลงล่าง (Topdown approach) หรือการออกนโยบายจากส่วนกลางให้ปฏิบัติตาม แต่มักไม่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (Bottom-up approach) ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาไทยดังที่คาดหวังจึงเชื่อว่าการผสานพลังผู้ขับเคลื่อนด้านการศึกษา รวมถึงการทำให้ภาคประชาสังคมตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษา จะทำให้การขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบนสัมฤทธิผล และกระตุ้นให้เกิดความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนจากบนลงล่างได้ในที่สุด
          “เราเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ให้คนทั่วไปตระหนักและความสามารถร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากจุดที่ตนอยู่ ให้เป็นระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์คนไทยอย่างแท้จริง”
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Thailand และกองทุน 500 TukTuks นำเสนอความเคลื่อนไหวทางสังคมในโครงการ Education Disruption & EdTech Hackathon ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีและนักการศึกษาเพื่อ disrupt การศึกษาไทย โดยเห็นว่า ในศตวรรษที่ 21 กำลังถูกถาโถมด้วยสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ตัวอย่างกำลังเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนคือ การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเกือบทุกด้าน การศึกษาที่ยังสร้างคนเพื่อป้อนเข้าระบบโรงงาน จะทำให้สังคมมนุษย์ล้มเหลว
          ในอนาคตระบบการศึกษาจะต้องดึงความเป็นคนให้กลับมา โดยต้องสร้างทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ห้องเรียนในอนาคตต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล และควรถูกกำหนดโดยนักเรียนที่จะเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคตเพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้จึงเกิดเป็นกิจกรรม Education Disruption Conference และ EdTech Hackathon เมื่อ ช่วง มี.ค.2561 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรวมตัวกันของนักเทคโนโลยี นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญและคนรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างเทคโนโลยีทางการศึกษาและโมเดลธุรกิจที่จะต่อยอดเพื่อเป็นสตาร์ตอัพด้านการศึกษากิจกรรมดังกล่าวใช้ระยะเวลาเพียง 2 วัน แต่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ธุรกิจและสังคมได้มากมายหลายตัวอย่าง ทำให้เห็นพลังจากการร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
          ขณะที่ ดร.สมเกียรติตั้งกิจวานิชย์ ประธานTDRI  เจ้าภาพหลักของวงเสวนานี้ ได้นำเสนอนโยบายเขตการศึกษาพิเศษเพื่อขยายผลโรงเรียนดีและสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาในพื้นที่จริงโดยระบุว่า สถานการณ์และระบบการศึกษาไทย จำเป็นต้องมีการปฏิรูประดับพื้นที่เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการขยายผลของการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน มีความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาเดิม พร้อมทั้งต้องการให้มีการประเมินผลกระทบ เพื่อหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศ จึงเกิดเป็นข้อเสนอให้มีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Reform Sandbox
          “ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหาร และได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดนวัตกรรมการสอนต่างๆตามบริบทของตน และจะไม่มีภาระการดำเนินโครงการพัฒนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายผลนวัตกรรม
          ฝ่ายบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตรสื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผล และอื่นๆ ซึ่งความสอดคล้องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในปรับเปลี่ยนสู่ระบบการศึกษาใหม่”
          ทั้ง 4 แนวทางนี้ล้วนมีความน่าสนใจและถือเป็นความพยายามหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาการศึกษาไทยจาก 0.4 ให้ก้าวไปเป็น 4.0 โดยแนวทางหนึ่งที่พอจับต้องเป็นรูปธรรม คือนโยบายพับบลิค สกูล(Public School) ที่วันนี้ได้โรงเรียนเข้าร่วมในระยะแรกเริ่มถึง 40 แห่ง และคาดว่าไม่เกินต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีการประกาศชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เริ่มทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2561 นี้–จบ–


ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ