สอศ.จัดอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดโครงการอบรม ประวัติศาสตร์ชาติไทยและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย” 4 รุ่น มุ่งหวังให้ผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 2,130 คน มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักรู้ถึงคุณค่า ความภาคภูมิใจ และความสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการสร้างชาติบ้านเมืองด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความรักและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สามารถนำไปถ่ายทอดขยายผลให้ครูและนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศต่อไป


เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมและฝึกอบรมวิชาชีพ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบพิธีถวายราชสักการะ กล่าวบทอาศิรวาทถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และเป็นประธานเปิดการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทยและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ครั้งที่ 1 (ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ) พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเรื่องศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีคณะผู้บริการส่วนกลาง อาทิ นายวณิชย์ อ่วมศรี และนายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นางปัทมา วีระวานิช ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ เข้าร่วมประชุมจำนวน 480 คน


นายวณิชย์ อ่วมศรี กล่าวถึงการจัดอบรมตามโครงการดังกล่าวว่า กำหนดจัดขึ้นรวม 4 รุ่นทั่วประเทศ คือ ครั้งที่ 1 จ.ปทุมธานี ครั้งที่ 2 จ.นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 3 จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 4 จ.เชียงใหม่ รุ่นละ 2 วัน เพื่อให้ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษา จำนวน 2,130 คน ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการสร้างชาติบ้านเมืองด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสามารถนำไปถ่ายทอดและใช้วิธีบริหารจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจในประวัติความเป็นไทย มีความภาคภูมิใจในชาติ มีความรักชาติ เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


การอบรมครั้งนี้จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้มีการพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุล เพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น และเป็นการเสริมสร้างให้ผู้เข้ารับการอบรมและนักเรียนนักศึกษามีจิตสำนึกและมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีระเบียบวินัย มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชัน ดำรงชีวิตด้วยความมีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองที่ดี


โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ในด้านวิทยากรการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลัก ประวัติความเป็นมาของชนชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเสียสละของบูรพมหากษัตริย์ไทยในอดีตถึงปัจจุบัน พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมพิธีเทียนรวมพลังอีกด้วย


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า การเป็นข้าราชการที่ดี ควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนดีของสังคม การเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 และของพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงจะปฏิบัติราชการได้ด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งนี้ขอให้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อที่จะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียนอันจะนำไปสู่อนาคต เช่น เหตุการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศไทย


นอกจากนี้ ได้ฝากข้อคิดในเรื่องความรู้รักสามัคคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในอดีตเกี่ยวกับการแบ่งแยกสีเสื้อ ซึ่งคนไทยจะต้องรักกันเหมือนดังที่พระองค์ทรงสอนให้เรารักกัน ร่วมมือกัน สามัคคีกัน เพื่อทำให้ประเทศชาติของเรามีความเจริญรุ่งเรือง มีความสุข เพราะเมื่อเราปฏิบัติตามหลักคำสอนพระราชทานรู้-รัก-สามัคคี” และ เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ในการครองตนและครองงาน บ้านเมืองเราจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน


ทั้งนี้ พระองค์ทรงถือเป็น “ต้นแบบ” ที่ดีสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคน เหตุผลสำคัญที่ทำให้ปวงชนชาวไทยรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ด้วยพระองค์ทรงเป็นผู้ครองตน ครองคน ครองงาน ทรงเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว สุขุม รอบคอบ ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ท่านทรงครองราชย์ รวมทั้งทรงบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข ให้กับราษฎร ทำให้ประเทศไทยอยู่เย็นเป็นสุขเจริญรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ การที่พระมหากษัตริย์เรามี “ต้นแบบ” ที่ทรงคุณค่ามหาศาลที่หล่อหลอมพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สถิตในหัวใจของปวงชนชาวไทย นั่นคือ “สมเด็จย่า”


ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวฝากให้ผู้บริหารร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท และน้อมนำพระบรมราโชวาท กระแสพระราชดำรัส แบบอย่างคุณงามความดี ความพอเพียง และความยั่งยืน ที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้ ใส่เกล้าใส่กระหม่อมและน้อมนำไปปฏิบัติ เพื่อให้พระองค์ประทับสถิตเสถียรอยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งชาติตราบนานแสนนาน


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสตร์พระราชา” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุและผล อธิบายได้ มีที่มาที่ไป ซึ่งในด้านการศึกษานั้น ครูนอกจากจะมีคุณธรรมจริยธรรม มีความเมตตากรุณาต่อศิษย์แล้ว ยังต้องสอนให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีเหตุผล ยึดตามหลักเหตุและผล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินโครงการในเวลานี้ คือ โครงการโรงเรียนคุณธรรม” ที่เป็นโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การเสริมสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรมในรอบรั้วสถานศึกษา การก้าวทันยุคโลกาภิวัตน์ การใช้ภาษาต่างประเทศที่มีความไพเราะถูกต้อง การส่งเสริมความกตัญญูกตเวทิตา และความซื่อสัตย์สุจริต


สำหรับกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังให้แก่ผู้บริหาร ครู และนักเรียนนักศึกษา มี 5 ประการ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรม  และตัวชี้วัดโรงเรียนคุณธรรม มี 7 ข้อ คือ 1) มีกระบวนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโรงเรียน 2) มีกลไกคณะทำงานและใช้โครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม 3) พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น 4) พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ในโรงเรียนลดลง 5) เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา คุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน 6) มีองค์ความรู้ นวัตกรรม การสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน 7) เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนคุณธรรม


ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะมีโรงเรียนคุณธรรมครอบคลุมโรงเรียนอย่างน้อย 30,000 แห่งในปีการศึกษา 2560 และขยายไปสู่สถานศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยคุณธรรม หรือมหาวิทยาลัยคุณธรรม ต่อไปด้วย






บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
1/5/2560