สอบ GAT/PAT

รมว.ศธ.ตรวจเยี่ยมสนามสอบ GAT/PAT ที่ มก. https://www.moe.go.th/websm/2014/mar/054.html

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (ผอ.สทศ.) ตรวจเยี่ยมสนามสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 ที่อาคารศูนย์เรียนรวม 4

รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการหารือกับ ผอ.สทศ. เห็นว่าควรจะให้ความสำคัญ ความสนใจ และกำลังใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ GAT/PAT และเพื่อให้การจัดสอบ GAT/PAT เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ จึงได้มาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้

เรื่องสำคัญที่ต้องการจะชี้แจงในการสอบ GAT/PAT และ O-NET รวมทั้งการสอบอื่นๆ ที่ สทศ. ดำเนินการอยู่ คือ เป็นการจัดสอบที่มีความสำคัญอย่างมาก และควรจะส่งเสริมให้มีความสำคัญมากขึ้นไปอีกในระบบการศึกษาของประเทศ ที่ได้นำระบบการทดสอบกลางของประเทศหรือระดับชาติมาใช้ หลังจากที่ไม่มีระบบการทดสอบกลางมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบการศึกษาของประเทศ คือทั้งประเทศไม่มีใครทราบว่ามาตรฐานในการจัดการศึกษาเป็นอย่างไร ดังนั้นการจัดการทดสอบกลางจะทำให้การเรียนการสอนเป็นมาตรฐาน แม้ว่าอาจจะมีปัญหาในระยะแรกอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ได้พัฒนามาเป็นลำดับ

ในการสอบ GAT/PAT ซึ่งเป็นการจัดสอบโดยการมอบหมายของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย  (ทปอ.) เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นความคิดริเริ่มที่ดี เพราะจะทำให้สามารถสร้างระบบที่ดี

ในอนาคตหวังว่าการจัดการทดสอบของ สทศ.ทั้งระบบจะพัฒนามากยิ่งขึ้น และสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยหวังว่าการจัดสอบเองโดยแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย จะลดลงหรืองดไปได้มากที่สุด เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความยุ่งยากที่เชื่อมโยงกับการจัดสอบตามอัธยาศัย ตามความสะดวกของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียนในโรงเรียน ต่อไปกระบวนการสอบหรือการคัดเลือกควรจะเกิดขึ้นหลังจากที่นักเรียนจบการศึกษา และควรจะงดการจัดสอบต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างปีการศึกษา เพื่อที่นักเรียนจะได้มีสมาธิในการเรียน และครูจะได้มีสมาธิในการสอนมากขึ้น

การใช้การทดสอบกลางเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยงดการสอบอื่นๆ จะมีผลดีคือทำให้เกิดความเท่าเทียม ความเป็นธรรมต่อนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีฐานะยากจน ก็จะสามารถสอบน้อยครั้งและใช้ผลสอบนั้นเข้าเรียนตามที่ต้องการได้ หลักการนี้เป็นเรื่องที่จะแก้ปัญหาทั้งในเชิงมาตรฐาน คุณภาพ และความเป็นธรรม ความยุติธรรมในระบบการศึกษา

ปัญหาที่สำคัญที่ต้องดำเนินการร่วมกัน คือ การพัฒนาข้อสอบต่างๆ ของ สทศ. คือ O-NET, GAT/PAT ให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องมีความสำคัญไปด้วยกัน และมีตัวเชื่อมที่สำคัญคือ สทศ.ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการคัดนักเรียนเข้าศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง สนใจการเรียนในระบบ และจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้

เรื่องที่จะฝากอีกประการหนึ่ง คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ซึ่งการศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นเรื่องที่ ศธ. ให้ความสนใจและประเมินว่า ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาภาษาต่างประเทศอยู่ในระดับคุณภาพที่ไม่น่าพอใจอย่างมาก ในบางภาษาก็ล้าหลังกว่าหลายประเทศในอาเซียน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของภาษาอังกฤษ ได้แนะนำให้ใช้มาตรฐานของสหภาพยุโรป หรือกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษ CEFR จึงต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับหลักสูตร การเรียนการสอน การทดสอบวัดผลประเมินผล การพัฒนาครูอาจารย์ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ขึ้นอยู่กับการวัดผล ในกรณีนี้คือการสอบ PAT ที่เกี่ยวกับการวัดความถนัดทางภาษา หากใช้แนวความคิดทำนองเดียวกันประยุกต์กับภาษาอื่นๆ รวมทั้งหามาตรฐานในการวัดผลที่ดี ก็จะเป็นตัวผลักดันให้การสอนภาษาต่างประเทศทั้งระบบให้ถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่จะได้มาตรฐานทางโลก ไม่ปล่อยให้ประเทศไทยล้าหลังในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอีกต่อไป

หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งระบบเข้าใจตรงกัน และช่วยพัฒนาการจัดการทดสอบของ สทศ. ใช้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันการจัดการศึกษา การคัดบุคลากรเข้ามหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยพัฒนาไปได้อย่างดี

การจัดการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 1/2557 มีทั้งหมด 4 วัน มีผู้เข้าสอบจำนวนทั้งสิ้น 335,960 คน โดยมีจำนวนศูนย์สอบทั้งหมด 19 แห่ง ได้แก่ศูนย์สอบมหาวิทยาลัย 18 แห่ง และที่ สทศ. ในการสอบวันที่ 8 มีนาคม 2557 มีจำนวนสนามสอบทั้งสิ้น 243 สนามสอบ นอกจากนี้ สทศ.มีการจัดสอบแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาและทางร่างกาย สำหรับสนามสอบ GAT/PAT ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจำนวนห้องสอบ 59 ห้อง และผู้มีสิทธิ์สอบ จำนวน 1,751 คน”

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน