สสวท.เฟ้นหาเยาวชนคนเก่ง นวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ชิงชัยในเวทีโลก


          สสวท.ประกาศผล Thailand Junior Water Prize (TJWP) 2018 รางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำประจำปี 2561 ร.ร.กำเนิดวิทย์ คว้ารางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปชิงชัยในเวทีระดับโลก ที่สวีเดน 25-30 ส.ค.นี้


          ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สสวท.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านการสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่จากการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม รวมทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สสวท.จึงจัดให้มีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ปี 2561 หรือ Thailand Junior Water Prize ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมการอนุรักษ์น้ำสู่ความยั่งยืน” (Water Conservation Innovation toward Sustainability) ระดับประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย.61 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเฟ้นหาเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลกในการแข่งขัน Stockholm Junior Water Prize 2018 ที่ประเทศสวีเดนระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค.นี้


          ผอ.สสวท. กล่าวต่อว่า การขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคเป็นปัญหาหนึ่งของโลก แม้โลกจะมีปริมาณน้ำมากแต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม ทุกคนจึงต้องตระหนักเรื่องการขาดแคลนน้ำและมองหากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นการผลิตน้ำสะอาดในราคาต้นทุนต่ำที่สุดให้ได้ สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่ถือว่าวิกฤติในขณะนี้เพราะยังมีแหล่งน้ำจืดที่ดี แต่ในประเทศทะเลทรายที่ประสบปัญหาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำจึงถูกนำมาเป็นโจทย์ฝึกให้เด็กคิดแก้ไขปัญหา ออกแบบกระบวนการคิด ทำการทดลองเพื่อหาแนวทางใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด



          “การทำวิจัยควรคำนึงถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริง หรือกำลังเป็นที่ต้องการของชุมชน สังคม โดย สสวท.หวังว่าโครงการนี้จะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจากนวัตกรรมใหม่ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสามารถเข้าร่วมประกวดในระดับโลกได้” ผอ.สสวท.กล่าว


          การประกวดครั้งนี้มีผลงานจากนักเรียนอายุ 14-19 ปีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 ที่ผ่านรอบคัดเลือกจำนวน 22 ผลงาน เป็นนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือแบบจำลองหรือต้นแบบที่แสดงออกถึงนวัตกรรมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการรักษาหรือแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมระดับครัวเรือน ชุมชน ประเทศ หรือระดับโลก โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญอันทรงคุณวุฒิและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ มีรางวัลจำนวน 6 รางวัล มูลค่ารวมทั้งสิ้น 200,000 บาท


          ผลการตัดสินของคณะกรรมการมีรายละเอียดดังนี้คือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง จากผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดทดสอบโลหะหนักในน้ำจากเซนเซอร์ทางเคมีติดบนอนุภาคนาโนแม่เหล็ก” คณะผู้วิจัยประกอบด้วย น.ส.พิมพ์ฟ้า คำกาหลง และ น.ส.แพรสุนันท์ จันทร์พานิช มี ดร.สุรนันท์ อนันต์ชัยศิลป์ ภาควิชาเคมีและวิทยาศาสตร์โลก ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง จากยางไม้ในท้องถิ่น” คณะผู้วิจัยประกอบด้วย นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา และนายพีรชัช คชนิล โดยมีนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร


          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี จากผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบ HWMS สำหรับการบริหารจัดการน้ำระดับครัวเรือนที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และตระหนักในคุณค่าของน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” คณะผู้วิจัยประกอบด้วย นายณัฐ ตระการไทย นายพชร ราชประสิทธิ์ มีนางสาวดรุณี จันสุตะ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร


รางวัลชมเชยมี 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ 1. โรงเรียนดอนจานวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ งานผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดอุปกรณ์ให้น้ำเลียนแบบการเกิดฝน” คณะผู้วิจัยประกอบด้วยนายอดิศักดิ์ จันทะไชย และนางสาวจีระนันท์ พรมมี มีนายชุมพล ชารีแสน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูที่ปรึกษา 2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม จากผลงานวิจัยเรื่อง “การกำจัดสีย้อมเมทิลีนบลูในน้ำเสียโดยแผ่นยางผสมตัวเร่งปฏิกิริยาโฟโตคะตะไลซิส Cu20/ZnO” คณะผู้วิจัยประกอบด้วย นางสาวพัชริญา ชวลิตจินดา นายพีรวิชญ์ เหล่าธนาสิน โดยมีนางสาวสิริหทัย ศรีขวัญใจ สาขาวิชาเคมี ครูที่ปรึกษา 3. โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำด้วยเนอสเซอรี่อนุบาลโกงกางใบใหญ่ (ภาค 2)” คณะผู้วิจัยประกอบด้วย นายกษิดิ์เดช สุขไกวและนายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ โดยมีนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูที่ปรึกษา


          ด้าน น.ส.พิมพ์ฟ้า คำกาหลง และ น.ส.แพรสุนันท์ จันทร์พานิช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย และที่ผ่านมาได้ใช้เวลาทุ่มเทให้กับการวิจัยครั้งนี้มาก การได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ได้รับประโยชน์ในเรื่องกระบวนการคิดที่เป็นระบบ เมื่อพบปัญหาจะไม่ย่อท้อเพราะจะต้องมีวิธีที่สามารถแก้ไขและพบคำตอบ รู้จักการวางแผน การแบ่งเวลา และจากนี้ไปจะเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศสวีเดนโดยทำการทดลองซ้ำเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนเป็นจริง รวมทั้งหาข้อบกพร่องและแก้ไขให้สมบูรณ์ ซึ่งนวัตกรรมที่คิดค้นสามารถช่วยประเทศชาติในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ


          ขณะที่ ดร.สุรนันท์ อนันต์ชัยศิลป์ ภาควิชาเคมีและวิทยาศาสตร์โลก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ครูที่ปรึกษา กล่าวว่า ประเด็นที่นำมาทำวิจัยนั้นได้มาจากการให้นักเรียนตั้งโจทย์ว่าสนใจทำวิจัยเรื่องใดส่วนตนเองทำหน้าที่สนับสนุนให้คำแนะนำ และภายหลังจากได้รับรางวัลแล้วจะวางแผนพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้นก่อนไปแข่งขันที่ประเทศสวีเดน โครงการฯ นี้นับเป็นโครงการที่ดี และจะสามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้ประเทศชาติได้ในอนาคตอย่างแน่นอน


          ทั้งนี้ ผู้สนใจติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ GLOBE Thailand http://globethailand.ipst.ac.th และ เฟซบุ๊ก Globe Thailand https://www.facebook.com/globethailand2015.



 


ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1268241