สรุปแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการ EEC

จังหวัดชลบุรี – พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รับฟังสรุปแผนจัดการศึกษาและเป็นประธานปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครูจากโรงเรียนในโครงการ และตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน



 ภาคเช้า


ในช่วงเช้าวันเดียวกัน เวลา 9.00 น., พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางนโยบายในการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ได้ไปเยี่ยมเยียนและพบปะในการประชุมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ครบทั้ง 3 จังหวัด ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม, จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ และจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้ง ได้ฟังสรุปผลการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการของแต่ละจังหวัดด้วยความชื่นชม มีความริเริ่มที่จะทำให้แผนจัดการศึกษามีความสมบูรณ์ แต่ก็ได้เสนอแนะให้มีการทบทวนพัฒนาแผนดังกล่าว โดยพิจารณาความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องให้มีความต่อเนื่อง


ส่วนการประชุมครั้งนี้ได้เชิญทั้ง 3 จังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดร่วมกัน เพื่อให้แผนจัดการศึกษามีความสมบูรณ์มากที่สุด หลังจากนี้ สพฐ.จะให้กลับไปทบทวนแผนแต่ละจังหวัดห้วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงจะกลับมาทบทวนแผนซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นแผนจัดการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะให้โรงเรียนทั้ง 3 จังหวัดนำไปใช้ในช่วงเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2560 ต่อไป


เราทราบกันดีว่า รัฐบาลได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะ และสมรรถนะ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 โดยมี 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ คือ


     ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
     ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
     ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
     ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา
     ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
     ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา


ในการจัดทำแผนการศึกษา จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องต่าง ๆ บางส่วน ดังนี้




  • การทำงานประชารัฐ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาคน ที่เกิดความร่วมมือการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในทุกมิติ



  • ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและภูมิปัญญา (Creativity & Innovation Smart THAILAND) แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 1.0 ซึ่งเป็นเรื่องของเกษตรกรรม, 2.0 เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมเล็กหรืออุตสาหกรรมเบา, 3.0 อุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อน



  • การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ทั่วประเทศ คือ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก สงขลา นราธิวาส มุกดาหาร นครพนม หนองคาย สระแก้ว และตราด หรือเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่ อ.หนองจิก อ.เบตง และ อ.สุไหงโก-ลก



  • นโยบายที่รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) กล่าวในการประชุมครั้งนี้ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy), เศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ฯลฯ



  • การศึกษาทางไกล ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทางการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม  (DLTV) มาตั้งแต่ปี 2538 และกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ.ได้นำมาขยายผลเพิ่มเติมจนสมบูรณ์ครบถ้วนครอบคลุมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศแล้ว และจะขยายเข้าสู่โรงเรียนขนาดกลาง สพฐ. รวมทั้งโรงเรียนเอกชน  โรงเรียน ตชด. โรงเรียนพระปริยัติธรรมต่อไป รวมถึงการขยายจอภาพรับชมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งเสริมระบบการพัฒนาคุณภาพศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology : DLIT) ที่มี 5 รูปแบบ คือ DLIT Classroom, Resources, Library, Professional Learning Community : PLC, Assessment ในโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่



  • STEM Education ซึ่ง สพฐ. ร่วมกับ สสวท. และโรงเรียนเอกชน จัดทำศูนย์สะเต็มศึกษาในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ



  • ความร่วมมือการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น ปีที่ 2  ภายใต้โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ Digital THAILAND ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระยะยาวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งผลดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงาน กศน. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดีแทค ได้จัดการอบรมให้ความรู้แก่ครู กศน.ตำบล จำนวน 9,080 คน โดยวิทยากรจากเครือข่ายเน็ตอาสาของดีแทคกว่า 500 คน เพื่อพัฒนาครู กศน. ให้เป็นวิทยากรแกนนำที่มีความรู้ความชำนาญด้านการใช้งานดิจิทัล และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้สมาร์ทโฟน การค้าออนไลน์ การทำการตลาดดิจิทัลผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 7,424 แห่ง ให้กับประชาชนสามารถเข้าถึงกว่า 4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้มีประชาชนประมาณ 42,000 คน ที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ได้สำเร็จ และการดำเนินโครงการในปี 2560 จะขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นกับอีก 2 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนาผู้ที่มีขีดความสามารถอยู่แล้ว ให้ได้รับการยกระดับการใช้ประโยชน์จากความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาการค้าในเชิงธุรกิจต่อไป


พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวฝากในที่ประชุมถึงการจัดทำแผนด้วยว่า “เราจะทำ นำความคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง” สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงานด้านอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา หลายเรื่องอาจมองดูเป็นภาพรวม แต่เมื่อเจาะลงไปในระดับพื้นที่ ก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น โดยขอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง 3 จังหวัด นำข้อมูลนโยบายดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ และที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ศาสตร์พระราชา ซึ่งมีคุณค่าอย่างที่สุดสำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักการทรงงาน หรือหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย เพื่อให้แผนจัดการศึกษาสอดคล้องเชื่อมโยงกันและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด.



 ภาคบ่าย


ต่อมาในเวลา 15.00 น. ได้เป็นพิธีปิดการประชุมสัมมนา  โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังผลการประชุมสัมมนา โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำเสนอร่วมกับตัวแทนทั้ง 3 จังหวัด


จังหวัดชลบุรี : นำเสนอโดย นายเกษม เนียมสันเทียะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1


(ร่าง) ยุทธศาสตร์การจัดการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยกระดับคุณภาพการศึกษา ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับนานาชาติ” โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ




  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคง โดยใช้กลยุทธ์ : การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านอาชีพ



  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาภายใน-ภายนอกในระดับต่าง ๆ และเครือข่ายกับภาคเอกชน ประชาคม และประชารัฐ เพื่อความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลยุทธ์ : การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานอาชีพเพื่อความสามารถในการแข่งขัน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การแสวงหาต้นทุนและกลุ่มผู้นำ ในการเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยใช้กลยุทธ์ : การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างการเรียนของนักเรียนนักศึกษา ด้วยโครงการทำแล้วต้องขาย เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ภายใต้หลักการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลยุทธ์ : การเสริมสร้างศักยภาพบุคคลเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ



  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสอน การแนะนำ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลยุทธ์ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการ บริหารจัดการภาครัฐ โดยใช้กลยุทธ์ : การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม


จังหวัดระยอง : นำเสนอโดย นายธวัชชัย อุ่ยพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1


(ร่าง) ยุทธศาสตร์การจัดการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยกระดับคุณภาพการศึกษา ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับนานาชาติ” โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ




  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาภายใน-ภายนอกในระดับต่าง ๆ และเครือข่ายกับภาคเอกชน ประชาคม และประชารัฐ เพื่อความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลยุทธ์ : การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานอาชีพเพื่อความสามารถในการแข่งขัน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การแสวงหาต้นทุนและกลุ่มผู้นำ ในการเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยใช้กลยุทธ์ : การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างการเรียนของนักเรียนนักศึกษา ด้วยโครงการทำแล้วต้องขาย เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ภายใต้หลักการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลยุทธ์ : การเสริมสร้างศักยภาพบุคคลเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ



  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสอนการแนะนำทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลยุทธ์ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการ บริหารจัดการภาครัฐ โดยใช้กลยุทธ์ : การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม


จังหวัดฉะเชิงเทรา : นำเสนอโดย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1


(ร่าง) ยุทธศาสตร์การจัดการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้วิสัยทัศน์ “จัดการศึกษาในทุกระดับให้สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม ที่มุ่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม 10 อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดฉะเชิงเทราอย่างยั่งยืน และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม” โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ




  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคง โดยใช้กลยุทธ์ : การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านอาชีพ



  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาภายใน ภายนอกในระดับต่าง ๆ และเครือข่ายกับภาคเอกชน ประชาคม และประชารัฐ เพื่อความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลยุทธ์ : การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานอาชีพเพื่อความสามารถในการแข่งขัน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การแสวงหาต้นทุนและกลุ่มผู้นำ ในการเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพภคน โดยใช้กลยุทธ์ : การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน



  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างการเรียนของนักเรียนนักศึกษา ด้วยโครงการทำแล้วต้องขาย เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ภายใต้หลักการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลยุทธ์ : การเสริมสร้างศักยภาพบุคคลเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ



  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสอน การแนะนำ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลยุทธ์ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการ บริหารจัดการภาครัฐ โดยใช้กลยุทธ์ : การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม



จากนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวแสดงความชื่นชมและขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้อง ทันสมัย และทันต่อเหตุการณ์ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีต่อพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวซึ่งได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จะเป็นหน้าต่างสำคัญของประเทศไทย รวมถึงจะเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างงาน สร้างความรู้ สร้างความสุขให้กับผู้คนในพื้นที่ ในพื้นที่คาบเกี่ยวและในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งอานิสงส์นี้ก็จะเกิดต่อสังคมไทยโดยรวมด้วย รวมทั้งขอแสดงความยินดีที่ทุกคนที่ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลที่สำคัญจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าคงจะได้แนวคิดและเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับฟังจากปัจจุบันนี้เป็นต้นไป


ทั้งนี้ รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งความหวังและมีความจริงใจในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยอาศัยยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศโดยรวม พร้อมทั้งอาศัยการขับเคลื่อนจากการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านระบบราชการ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะการก้าวสู่ Thailand 4.0 การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทิศทางในการแข่งขันกับสังคมโลกยุคปัจจุบัน


ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษา จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งการประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าทุกคน ณ ที่นี้ ได้ให้ความสำคัญและมองงานในเชิงวิสัยทัศน์เป็นภาพเดียวกันกับรัฐบาลแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยิ่งนัก


โอกาสนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของทั้ง 3 จังหวัด ดังนี้




  • เน้นย้ำความต่อเนื่อง เมื่อได้เริ่มต้นกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนงานเพื่อพัฒนาการศึกษาพร้อมระบุกลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็ควรที่จะต้องดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างสอดคล้องต้องกัน โดยมีการกำหนดแผนงานเป็นระยะตามช่วงเวลาที่จะดำเนินการ แต่ให้มีความยืดหยุ่นมากเพียงพอต่อการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนได้ในระยะที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป



  • การศึกษาระดับภูมิภาคอาจเป็นโมเดลเปลี่ยนการศึกษาประเทศ แม้ขณะนี้สิ่งที่กำลังดำเนินการอาจดูเหมือนเป็นงานการศึกษาในระดับภูมิภาค (Regional Education) แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่กำลังดำเนินการอาจเป็นโมเดล (Model) หรือตัวอย่างที่สำคัญ นำไปสู่การปรับปรุงการศึกษาของประเทศครั้งใหญ่ ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจว่า เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศ ที่จะทำให้คนไทยมีความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น สามารถทำงานได้ในบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย, การก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0, การสร้าง World Class Product เป็นต้น แม้จะเป็นการดำเนินการงานด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค แต่ก็เป็นการศึกษาในระดับภูมิภาคที่อยู่ในระดับ World Class ทั้งในแง่ของการศึกษาและแง่ของผลผลิต (Product) ที่จะตามมาด้วย



  • คำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ ขอให้การดำเนินงานคำถึงคุณภาพอย่างรอบด้าน ซึ่งคำว่าคุณภาพ ไม่ว่าจะใช้คำว่า “Quality Eastern Economic Corridor” แบบตรงตัว หรือ “Smart Eastern Economic Corridor” หรือจะใช้คำอื่นใดก็ตาม แต่ขอให้ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพซึ่งมีความหมายครอบคลุมในหลายด้าน อาทิ ด้านชีวิตความเป็นอยู่ (Smart Living), ด้านเทคโนโลยี (Smart Technology), ด้านการคมนาคมขนส่ง (Smart Logistics), ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (Smart City), ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และที่สำคัญก็คือด้านการบริหารจัดการของภาครัฐในท้องที่ (Smart Local Government) ซึ่งการบริหารจัดการภาครัฐในภาพใหญ่ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทั้งการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Government) และ E-Government อยู่แล้ว ดังนั้น การบริหารจัดการในระดับพื้นที่ก็ต้องเน้นความสำคัญของการรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐเช่นเดียวกัน



  • ทำงานอย่างเสียสละ มีจิตสาธารณะ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัด เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความคล้ายคลึงและเหมือนกันในหลายส่วน จึงควรที่จะทำงานโดยเน้นการประสานงานอย่างบูรณาการ โดยยึดมั่นในความเสียสละ มีจิตสาธารณะ และเอื้ออาทรต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ ให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะการพัฒนาเมืองย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน ผลกระทบจากการเดินทาง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาช่วยพัฒนาคนทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข มีงานทำ มีรายได้ที่ดี ขออย่าลืมหันกลับมาดูแลผู้ด้อยโอกาส/ผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าด้วย


ในท้ายที่สุดนี้ ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้อีกครั้ง และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ทำงานทุกคน ซึ่งหากมีสิ่งใดที่ตนจะช่วยประสานงานหรือร่วมผลักดันได้ ก็มีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเสมอ ทั้งนี้ขอให้ทุกคนโชคดีและประสบความสำเร็จดังที่หวังไว้



นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เป็นผู้กล่าวรายงานปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ด้วยว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้อง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนในพื้นที่ดังกล่าว มีการบูรณาการการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม


จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ ได้บูรณาการแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยง และเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ข้อมูลจากการประชุมสัมมนาไปวางแผนการดำเนินงาน ตลอดจนสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการจำเป็นของแต่ละพื้นที่


โดยมีผู้เข้าประชุมสัมมนารวมทั้งสิ้น 1,000 คน อาทิ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูจากโรงเรียนในโครงการ ภาคเอกชน ชุมชน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ตลอดจนการจัดนิทรรศการ 10 อุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นิทรรศการของกระทรวงศึกษาธิการ และนิทรรศการของแต่ละจังหวัด



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: ถ่ายภาพ
26/3/2560