จังหวัดนครพนม – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังผลการประชุมและเป็นประธานปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564)
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สนย.สป.) เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลและเตรียมแผนดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายแดน แต่หากจะจัดการประชุมจัดทำแผนในจังหวัดชายแดนทั่วประเทศที่มีจำนวนทั้งสิ้น 27 จังหวัด 105 อำเภอ (ไม่นับรวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว) ก็จะใช้เวลามาก จึงได้รวมกลุ่มจังหวัดจัดการประชุม
-
ครั้งแรก เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 ที่ จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ติดกับเมียนมาและลาว -
ครั้งที่ 2 วันที่ 27-28 เมษายน 2560 ที่ จ.จันทบุรี ประกอบด้วย 3 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออก ติดกับกัมพูชา -
ครั้งที่ 3 วันที่ 11-12 พฤษภาคม 2560 ที่ จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย 5 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ติดกับลาวและกัมพูชา -
ครั้งที่ 4 วันที่ 19-20 พฤษภาคม 2560 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย 6 จังหวัดชายแดนด้านตะวันตกแถบเทือกเขาบรรทัด ติดกับเมียนมา -
ครั้งที่ 5 วันที่ 26-27 พฤษภาคม 2560 ที่ จ.พิษณุโลก ประกอบด้วย 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ติดกับลาว -
ครั้งที่ 6 วันที่ 2-3 มิถุนายน 2560 ที่ จ.นครพนม ประกอบด้วย 5 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ติดกับลาว
จากนั้น
โอกาสนี้ สืบสานศาสตร์พระราชา : ขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีคุณค่ามหาศาลต่อปวงชนชาวไทย เป็นหลักในการสอดแทรกไว้ในแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิต ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว และมีหลายคนที่นำไปปฏิบัติแล้วส่งผลดีต่อชีวิตและการทำงาน นอกจากนี้ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศ ที่ได้ศึกษาและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาประเทศ โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” กล่าวคือ 1) ห่วงความพอประมาณ-ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น 2) ห่วงความมีเหตุผล-การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3) ห่วงการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว-การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วน 2 เงื่อนไข คือ 1) เงื่อนไขความรู้-ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เชื่อมโยงความรู้ประกอบการวางแผนอย่างรอบคอบ 2) เงื่อนไขคุณธรรม-ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต |
พล.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวฝากข้อคิดประจำใจ เพื่อปรับใช้ในการดำรงชีวิตและการทำงาน คือ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น, ความพยายามและความมุ่งมั่น เป็นพลังอันยิ่งใหญ่, งานจะสำเร็จได้ ต้อง “ตั้งใจทำ นำเพียรคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง” พร้อมเสนอให้นำระบบ After Action Review (AAR) มาใช้เพื่อทบทวนการทำงาน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้ในการทำงานของทุกส่วนได้ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการจัดทำแผน กับการนำแผนไปสู่ปฏิบัติ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 แผนดี-ปฏิบัติดี งานมีความสำเร็จสูง, ระดับที่ 2 แผนไม่ดี-ปฏิบัติดี งานจะสำเร็จได้ หากมองเห็นและแก้ไขปรับปรุง, ระดับที่ 3 แผนดี-ปฏิบัติไม่ดี งานสำเร็จได้ยาก เพราะขาดความตั้งใจ ไม่สร้างการรับรู้ ไม่มีกลไกขับเคลื่อน และระดับที่ 4 แผนไม่ดี-ปฏิบัติไม่ดี งานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษาประชาชนในพื้นที่ชายแดน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ มีความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ อยู่ร่วมกันเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต โดยยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผน และติดตามการดำเนินงานเป็นห้วง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มอบหมายให้นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 เป็นกรณีพิเศษ ที่จะต้องพิจารณาแผนงานหรือโครงการพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดนเพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณต่อไป
ขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม และขอแสดงความชื่นชมกับการนำเสนอแผนของทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพยายามร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนตุลาคมนี้จะจัดให้มีประชุมทบทวนแผนการทำงาน เพื่อปรับให้มีความเหมาะสมและให้สามารถนำไปใช้ได้ทันในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2560 ต่อไป
![]()
ตัวแทน 5 จังหวัดนำเสนอแผนการศึกษาพื้นที่ชายแดนในจังหวัดของตนเอง
สำหรับพิธีปิดการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 250 คน อาทิ นายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11, นายปริญญา ธรเสนา ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม, นายเสถียร แสนอุบล ศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหาร, นายสุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดเลย, นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการจังหวัดหนองคาย, นายธีรพงษ์ สารแสน ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา พร้อมทั้ง ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รวมทั้งคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยนครพนม
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
4/6/2560