เคยสังเกตเห็นอาการบางอย่าง ของบุตรหลานท่านหรือไม่? อาทิ นิ่งไม่เป็น รอไม่ได้ ยุกยิกตลอดเวลา พูดไม่หยุด ใจร้อนไม่อดทน หลงๆ ลืมๆ ฯลฯ หากมีอาการเช่นนี้ถี่ๆ บ่อยๆ ก็อาจสงสัยได้ว่าเด็กน้อยเข้าข่าย “สมาธิสั้น” (Attention Deficit / Hyperactivity Disorder : AD/HD) ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล อธิบายว่า อาการดังกล่าวเกิดจากสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมเรื่องการสมาธิจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำงาน น้อยกว่าเด็กปกติ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสารสื่อประสาทหลั่งออกมาน้อยกว่าคนปกติ “หากเปรียบสมองเป็นรถ สารสื่อประสาทก็เหมือนกับเชื้อเพลิง ถ้า ไม่มีเชื้อเพลิงรถก็วิ่งไม่ได้” สมาธิสั้น เกิดได้ทั้งจาก “กรรมพันธุ์” หากพ่อหรือแม่เป็นโรคสมาธิสั้น ลูกที่เกิดมา มีโอกาสถึงร้อยละ 57 ที่จะสมาธิสั้น ไปด้วย และจาก “สิ่งแวดล้อมพฤติกรรม” อาทิ แม่ตั้งครรภ์ได้รับ พิษตะกั่ว เช่น บริโภคอาหารหรือ น้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว หรือสูบบุหรี่เสพยาเสพติดขณะตั้งครรภ์ เด็กวัยเรียนทั่วโลกพบว่ามีอาการสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 7 หรือในเด็กวัยเรียนทุกๆ 100 คน จะพบผู้มีอาการสมาธิสั้น 7 คน
อย่างไรก็ตาม “อาการสมาธิสั้น สามารถรักษาหรือบรรเทาให้ทุเลาลงได้” เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดประชุม “กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในงานนี้ ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี ประธานสาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในหัวข้อย่อย “เลี้ยงเล่นอย่างสร้างสรรค์ “สมาธิสั้น” รับมือได้” แนะนำ 7 ข้อพึงปฏิบัติสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหลานที่อาจเข้าข่ายสมาธิสั้น
ประกอบด้วย 1.ลดสิ่งเร้าเพราะสิ่งเร้า เช่น ในสิ่งแวดล้อม ที่เสียงดัง สีสันที่ฉูดฉาด เป็นตัวกระตุ้น สำคัญที่ทำให้สมาธิของเด็กน้อยลง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือจัดบ้านให้เรียบง่าย เก็บของในตู้ทึบแทนตู้กระจก ไม่ซื้อของเล่นให้มากเกินไป จำกัดเวลาดูโทรทัศน์-เล่นเกมคอมพิวเตอร์ รวมถึง ลดการทำกิจกรรมหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น กินข้าวไปดูโทรทัศน์ไป เป็นต้น
2.เฝ้ากระตุ้น ผู้ปกครอง และครู ต้องร่วมกันอย่างใกล้ชิด คอยติดตามและตักเตือน เนื่องจากเด็กเล็ก ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น เตือน เด็กเมื่อถึงเวลาทำงาน เมื่อหมดเวลาเล่น โน้ตข้อความสำคัญในที่ที่เด็กเห็นได้ง่าย แนะเคล็ดวิธีช่วยจำ ให้ลูก เช่น การย่อ หัดขีดเส้นใต้ ขณะเรียน 3.หนุนจิตใจ ชื่นชมเด็กเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือมีความสำเร็จเล็กๆ ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิด ช่วยเด็กหาวิธีแก้ไขจุดอ่อน
“ไม่พูดคำว่า “อย่าทำ” “อย่าไป” “หยุดเดี๋ยวนี้” เพราะเด็กสมาธิสั้นมักมีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ไม่สำเร็จอยู่แล้ว เมื่อได้รับแต่คำตำหนิติเตียน เด็กจะยิ่งหมดความ มั่นใจและไม่เคารพตัวเอง ไม่กล้าคิด และจะรอฟังคำสั่งและทำตามที่ถูกสั่ง เท่านั้น”
4.ให้รางวัล เด็กที่สมาธิบกพร่อง มักจะเบื่อและขาดความอดทน แต่หากมีรางวัลตามมา เด็กจะรู้สึกท้าทาย และมีแรงจูงใจในการ ทำงานมากขึ้น และควรเปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้สนุก และสนใจ ทั้งนี้การให้รางวัลถือเป็นแรงจูงใจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ โดยมีขั้นตอนการให้รางวัลง่ายๆ คือ ระบุ พฤติกรรมดีที่ต้องการให้เกิดขึ้นทดแทนพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หลังจากฝึกได้ 1-2 สัปดาห์ เริ่มใช้การ ลงโทษแบบไม่รุนแรง เช่น ตัดสิทธิ์ อดรางวัล เมื่อเกิดพฤติกรรมที่เป็น ปัญหา โดยใช้วิธีการให้รางวัลมากกว่า การลงโทษ
5.ระวังพูดจา ไม่พูดมาก หรือบ่น ไม่เหน็บแนมประชดประชัน ไม่ติเตียนกล่าวโทษ บอกกับเด็กสั้นๆ ง่ายๆ ว่าต้องการให้ทำอะไร หากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่ควรใช้วิธีเดินเข้าไปหา จับมือ แขน หรือบ่า สบตาเด็ก พูดสั้นๆ จากนั้นให้เด็ก พูดทวน หากเด็กไม่ทำก็พาไปทำ ด้วยกัน 6.หาสิ่งดี ผู้ปกครองและ ครู ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า “เด็กไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้มีปัญหา แต่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้ควบคุมตัวลำบาก หยุดตัวเองได้ยาก” และไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้ คิดถึงความน่ารัก และความดีในตัวเด็กและตัวเราเอง
และ 7.มีขอบเขต โดยมีตารางเวลา หรือรายการสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เด็กรับรู้ขีดจำกัด และช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่ายขึ้น เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ไม่ปล่อยปละละเลย หรือตามใจมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและผัดผ่อนต่อรองบ่อยๆ อย่าปล่อยให้เด็กวางเงื่อนไขเรา เราต้องวางเงื่อนไขเด็ก
ดร.วีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อาการสมาธิสั้นมีทั้ง “สมาธิสั้นแท้- สมาธิสั้นเทียม” เด็กบางคนไม่ได้เป็นสมาธิสั้นจากโรค แต่เป็นสมาธิสั้นเทียม ที่เกิดจากการเลี้ยงดู “แพทย์เท่านั้นที่วินิจฉัยได้” ซึ่งผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นบางรายอาจต้องใช้ยารักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย โดยยาที่ใช้จะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์สมองให้หลั่งสารที่จำเป็นในการช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น แต่หากสมาธิสั้นจากการเลี้ยงดู การแก้ไขจะใช้เพียงการปรับพฤติกรรมของเด็ก-ปรับทัศนคติของผู้ปกครอง เด็กก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้
“สมาธิสั้นยิ่งเจอเร็วเท่าไหร่ และพ่อ แม่มีความตระหนัก ก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเด็กได้ตรงประเด็นและเร็วขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ ปัญหาสะสมจนเด็กโต เพราะเด็กมีอายุเกิน 7 ปีไปแล้ว พฤติกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นพฤติกรรม ที่ถาวรและปรับยาก ซึ่งคนที่จะดูแล และเข้าใจเด็กได้ดีที่สุดคือ พ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดู เพราะอยู่กับเด็กตลอด อีกทั้ง การปฏิบัติที่ผิดวิธีอาจจะเสริมให้เกิดสมาธิสั้น เช่น การเลี้ยงลูกโดยใช้แท็บเลต ใช้ทีวี เพื่อให้เด็กนิ่งนั่งอยู่กับที่ ยิ่งจะทำให้เด็ก แย่ลง” ดร.วีรวัฒน์ ฝากทิ้งท้ายสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานสมาธิสั้น อาจต้องเหนื่อยมากหน่อยในการเลี้ยงดู เพราะต้องใช้ เวลานานในการปรับพฤติกรรม อีกทั้ง ต้องมีวินัยปฏิบัติตามโปรแกรมการฝึก อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อทำจนเกิดเป็น นิสัยแล้ว พฤติกรรมที่ดีนั้นจะคงอยู่อย่าง ถาวร โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ในวันที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่อาจอยู่ดูแลพวกเขาได้อีกแล้ว
เด็กๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี ก็จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มี สุขภาวะที่ดี ดำเนินชีวิตได้อย่างมี ความสุข เอาตัวรอดได้ และภาคภูมิใจ ในตนเอง!!!
บรรยายใต้ภาพ
พฤติกรรมต้องสงสัยสมาธิสั้น
ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า