สมรรถนะวิชาชีพ

การประชุมเสวนา
“อาชีวศึกษากับการจ้างงานตามสมรรถนะวิชาชีพ”

ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธานเปิดการประชุมและร่วมเสวนาการดำเนินงานนำร่องระบบคุณวุฒิวิชาชีพในสถานศึกษา
เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับค่าตอบแทนตามทักษะความรู้ความสามารถ
“อาชีวศึกษากับการจ้างงานตามสมรรถนะวิชาชีพ” โดยมี ดร.กิตติ ลิ่มสกุล และ
ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด
สอศ. ผู้บริหารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการ
เข้าร่วมประมาณ
200 คน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ที่ห้องแซฟไฟร์ 204 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม 3

นายวณิชย์ อ่วมศรี
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

กล่าว
รายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า
กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน
ส่งผลให้แต่ละประเทศมีการปรับตัวอย่างมากในการพัฒนา
เพื่อให้สามารถตอบสนองและทันต่อการแข่งขันในตลาดโลก
รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ในการที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศตามเป้าหมายที่กำหนด
จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและเป้าหมายที่ได้วางแนวทางไว้
และต้องเร่งรัดเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ได้คุณภาพมาตรฐาน
ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต การค้าและการบริการ
ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสายวิชาชีพ
เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานอย่างถูกต้อง เหมาะสม
และพอเพียง

สอศ.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาท
ภารกิจหลักที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาวิชาชีพ
เพื่อให้เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของประเทศในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวหน้า
ยั่งยืน และมีความสมดุล ตามข้อเสนอของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
(พ.ศ.
2552 – 2556) และยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน

ในช่วงการปฏิรูปการศึกษาได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
เพื่อการรับรองสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท
โดยเฉพาะคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้
ความสามารถในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ
ตามความต้องการของผู้จ้างงาน

กรอบคุณวุฒิแห่งชาติจึงเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้
ความสามารถ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
จึงได้ดำเนินการพัฒนาและจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
2556

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติให้สถานศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษาเป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร
การจัดการเรียนการสอน
และการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้สามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพ
เพื่อประโยชน์ต่อการรับรองมาตรฐานคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะวิชาชีพใน
5
สาขาวิชาชีพนำร่อง ได้แก่
สาขาปิโตเลียม สาขาเทคโนโลยีระบบเสียง สาขาพาณิชย์นาวี สาขาแม่พิมพ์
และสาขาตรวจสอบโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

รมว.ศธ.
กล่าวว่า
การพัฒนาและยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศ
เพราะในภาคการผลิตและสังคมปัจจุบัน ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือเป็นจำนวนมาก
ทั้งในแง่ปริมาณและแง่คุณภาพ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารในปัจจุบัน
เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเคลื่อนย้ายของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้าสู่ภูมิภาค
และการเคลื่อนย้ายกำลังคนที่อาจจะมีมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงต้องเน้นเรื่องการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
และให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการ

ตั้งแต่การสำรวจความต้องการ กำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษา
กำหนดหลักสูตร การเรียนการสอน การอบรม การฝึกงานในสถานศึกษา
และการฝึกงานในสถานประกอบการ

นอกจากมีความร่วมมือกับภาคเอกชนแล้ว
ต้องการให้มีความร่วมมือกับต่างประเทศ

เพื่อนำเอารูปแบบการจัดการศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาแบบอาชีวศึกษามาปรับใช้
อาจจัดให้มีวิทยาลัยตัวอย่างที่ใช้รูปแบบของต่างประเทศมาใช้ในการจัดการศึกษา ในการดำเนินการดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่มีมาตรฐาน
เพื่อจะได้ทราบจำนวนแรงงานที่ผลิตว่ามีความรู้และสมรรถนะมากน้อยเพียงใด
รวมถึงการปรับระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้เทียบเคียงกับมาตรฐานของต่างประเทศ
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายเทบุคลากรระหว่างประเทศในอาเซียน
และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการลงทุน

ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ
มีความสำคัญต่อผู้สำเร็จการศึกษาในเรื่องของเส้นทางความก้าวหน้า
และสถานะความมั่นคงทางอาชีพ
สำหรับผู้ที่มีงานทำอยู่แล้วก็จะได้ประโยชน์จากการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพด้วย

ระบบคุณวุฒิวิชาชีพจะดึงดูดให้มีผู้สนใจศึกษาต่ออาชีวศึกษามากขึ้น
เนื่องจากระบบดังกล่าวจะประเมินคน ให้คุณค่า
และส่งเสริมให้เกิดการให้ผลตอบแทนแก่บุคคลจากสมรรถนะ ความรู้ความสามารถ
ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร
ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพเท่านั้น
แต่มีการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพในหลายสาขาวิชามากขึ้น
เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคเอกชนอย่างมีคุณภาพ หากดำเนินการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้มีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับได้เร็ว
การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น
51 : 49 ภายในปี 2558 จะเกิดขึ้นได้
ประเทศไทยก็จะสามารถผลิตแรงงานที่สนองต่อความต้องการของภาคเอกชนได้
และแรงงานเหล่านี้ก็จะมีค่าแรงและรายได้สูงขึ้น

เมื่อมีแนวโน้มว่าในปีการศึกษาถัดไปจะมีผู้สนใจศึกษาต่ออาชีวศึกษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อาจเกิดปัญหาเรื่องความพร้อมของสถานศึกษาในการรองรับจำนวนผู้เรียนที่เพิ่มขึ้น
ปัญหาของที่สถานศึกษาข้างเคียงมีการส่งต่อผู้เรียนว่าจะสามารถเปิดหลักสูตรตามความสนใจของผู้เรียนได้หรือไม่
การเพิ่มจำนวนบุคลากร ครูผู้สอน ผู้ฝึกอบรม
และอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน

โอกาสนี้ ขอฝากความหวังไว้กับการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ
และหวังว่าการเสวนาในวันนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ทำให้เกิดการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษา
เพื่อผลิตบุคลากรในตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศมากขึ้น
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป


กุณฑิกา
พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

29/3/2557