วันนี้ (๔ กันยายน ๒๕๖๒) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) เข้าร่วมประชุมรับฟังสรุปผลจากการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ของคณะกรรมการศึกษา วิเคราะห์แนวทางการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมี ว่าที่เรือตรีทรงยศ พรานเนื้อ เป็นประธาน และได้รับเกียรติจาก ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมให้ความเห็นและแนวทางในการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนและเชิญผู้เกี่ยวข้องมารับฟังความคิดเห็น จากผลการรับฟังความคิดเห็นจำนวน ๔ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ จากผู้แทนองค์กรครู ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานหลักในกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มองค์กรครูใน ๔ ภูมิภาค เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ครั้งที่ ๒ จากผู้เข้าร่วมประชุมงานจัดงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ: ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรม The Berkeley ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๓ จากผู้ตอบแบบสอบถามทางเวปไซต์ของ สกศ. www.onec.go.th ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ใน ๓ ประเด็น คือ ๑. เปลี่ยน“ผู้อำนวยการ”เป็นครูใหญ่ ๒. เปลี่ยน“รองผู้อำนวยการ” เป็น “ผู้ช่วยครูใหญ่ และ ๓. เปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” และ ครั้งที่ ๔ จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาและกรรมการสถานศึกษา ในการประชุมพัฒนากฎหมายเพื่อการปฎิรูปประเทศ ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ จังหวัดกาญจนบุรี
“ภาพรวมจากการรับฟังของผู้เข้าร่วมประชุมและตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้คงคำเรียก”ผู้อำนวยการ” “รองผู้อำนวยการ” และ”ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ไว้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามการรับฟังความคิดเห็นร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งการรับฟังต้องดำเนินการให้ครบถ้วนในทุกกลุ่มทั้งผู้มีส่วนรับผิดชอบและผู้รับบริการด้วย” รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติว่า ควรมีการทบทวนประเด็นที่ไม่ได้มีข้อเรียกร้องแต่เป็นประเด็นที่กำหนดขึ้นใหม่ใน ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เช่น ระบบการศึกษา การแบ่งช่วงวัย การผลิตครู และควรรับฟังจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ รวมทั้งผู้ปฏิบัติให้ครบถ้วน นอกจากนี้ เรื่องการศึกษาตลอดชีวิตของหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นควรให้สอดคล้องกับ ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ ในเรื่องการกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยงานทั้งระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล ระดับสนับสนุน และระดับปฏิบัติ ให้กำหนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นย่อยที่เป็นข้อเสนอต่าง ๆ ควรจะไปกำหนดในกฎหมายลูกหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น การดำเนินทางวินัย บทลงโทษเป็นต้น สำหรับการสร้างความเข้าใจควรเป็นข่าวในเชิงบวก และมียุทธศาสตร์การสื่อสารที่ดีและต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ การปรับปรุง ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการฯจะได้รวบรวมประเด็นรับฟังความคิดเห็นและสรุปเป็นประเด็นสำคัญและสาระบัญญัติในเรื่องนั้นไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ยุติและครบถ้วนแล้วจึงจะดำเนินการปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สกศ.