ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน
ธวัช ชลารักษ์
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมปฏิบัติการ
จาก : หมายเหตุ กศน.
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาหาความรู้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ทั้งโลกของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โลกของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โลกของจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์รวมทั้งโลกของโรคที่วิวัฒนาการจนตามไม่ทัน การศึกษาที่พยายามจะจัดให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหลักสูตร ระยะเวลา วิธีการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดผลประเมินผล ย่อมไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายตามสภาพของปัญหาและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคล การศึกษาจึงจำเป็นต้องมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มอายุ กลุ่มปัญหา สภาพพื้นที่ และความต้องการของเอกบุคคล ศูนย์การเรียนชุมชนจึงเป็นแหล่งการเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน ความหลากหลายของการได้มาซึ่งความรู้ ดังนั้น หากชุมชนได้รวมพลังสรรสร้างศูนย์การเรียนชุมชนให้ครบทุกตำบลก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่จะมาแสวงหาความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ศูนย์การเรียนรู้จึงเป็นของประชาชนในชุมชน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแหล่งบริการข้อมูลข่าวสาร เป็นสถานที่ให้บริการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ฯลฯ ศูนย์การเรียนชุมชนจึงเปรียบเสมือน สถานีเติมปัญญาให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
องค์ประกอบหลักของศูนย์การเรียนชุมชน
การดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชนเป็นเรื่องที่จะต้องคิดจากชุมชนเองเป็นโดยมีครู กศน. เป็นผู้ที่จัดกระบวนการเรียนการสอนตามสภาพวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ๆ องค์ประกอบที่สำคัญต้องประกอบด้วย
๑. ต้องมีสถานที่ที่สามารถใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย สะดวกในการมาใช้บริการ ยึดหลักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน
๒. มีคณะกรรมการเป็นบุคคลที่อยู่ในชุมชนมีจิตสำนึกสาธารณะ
๓. มีบุคลากร ทำหน้าที่จัดกระบวนการศึกษา หาองค์ความรู้ไว้บริการและเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ (ครู กศน.)
๔. มีสื่ออุปกรณ์ที่หลากหลายครบถ้วนให้บริการความรู้ได้ในทุกรูปแบบ ทันสมัย
๕. มีข้อมูลสำหรับการให้บริการแนะแนวต่าง ๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
๖. มีเจ้าภาพสำหรับจัดกิจกรรมให้เกิดการเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวา
๗. ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาสาสมัครประชาชนเข้ามามีส่วนเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างสมดุล
ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนร่วมกับชุมชนมีทั้งสิ้นทั่วประเทศ ๗,๗๐๔ แห่ง เป็นศูนย์การเรียนที่กำลังรอการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ หากทุกภาคส่วนทั้งของรัฐและเอกชนมองเห็นคุณค่าของศูนย์การเรียนรู้ที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แล้ว ผู้เขียนมีความเชื่อเหลือเกินว่า ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนได้ในอนาคตอันใกล้นี้