ศธ.ปรับโครงสร้างองค์กรลดความซ้ำซ้อนภารกิจ

                  25 มิถุนายน 2551 : นายชินภัทร ภูมิรัตน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม ปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาโครงสร้างระบบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องเพชรรัตน์ โรงแรมเฟิสท์ กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณา ทบทวน ภารกิจ โครงสร้าง ของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งองค์กรหลักให้เหมาะสมกับภารกิจ

                   รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการเริ่มต้นจากการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการครั้งใหญ่ เกิดกระทรวงใหม่ 20 กระทรวง จัดกลุ่มตามภารกิจและเพื่อลดความซ้ำซ้อนของงาน และเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบราชการโครงสร้างให้เหมาะสม รวมถึงให้ระบบ การบริหารงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เน้นเพิ่มสมรรถนะ เพิ่ม หลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่เน้นการบริหารแบบมุ่งสัมฤทธิ์ผล โครงสร้างองค์กรต้องเหมาะสมกับภารกิจตามหลักบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

               รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานตามโครงสร้างของกระทรวง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ที่ผ่านมาพบปัญหา การดำเนินงานบางภารกิจที่ปรับเปลี่ยนไป กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องปรับปรุงกฎหมาย เพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ได้กำหนดไว้ จึงจำเป็นที่ต้องปรับบทบาท ภารกิจโครงสร้างให้สอดคล้องรับกับกฎหมายใหม่ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีการขอปรับโครงสร้างองค์กร ประกอบด้วย กคศ. กศน. และสช.ขอยกฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงการปรับโครงสร้างการจัดตั้งหน่วยงานระดับสำนัก 5 สำนัก คือ สำนักกิจการพิเศษ สำนักตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 – 12 สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (กศน.) สำนักพัฒนาระบบบริหาร และสำนักประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการมีโครงสร้างที่สอดคล้องเหมาะสมกับภารกิจที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของชาติและยุทธศาสตร์ระบบราชการ ให้มีระบบบริหารงานที่ทันสมัย มีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

             หลักสำคัญในการปรับโครงสร้างแต่ละหน่วยงานจะต้องมีกรอบแนวคิดที่ตรงกัน วิเคราะห์พิจารณาภารกิจความจำเป็นก่อนโดยยึดหลัก 3 ประการ คือ 1. ประโยชน์ของผู้เรียนและผู้รับบริการเป็นหลัก มีเงื่อนไขในการปฏิบัติงานได้ดี นักเรียนมีคุณภาพ ประชาชนที่รับการบริการมีความพึงพอใจ 2. ประโยชน์ของทางราชการ มุ่งเน้นปฏิบัติภารกิจของกระทรวง เรื่องการจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย ตัดทอนส่วนที่เป็นงานซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 3.ประโยชน์ของข้าราชการในเรื่องขวัญ กำลังใจ สวัสดิภาพ หากมีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้วจะนำไปสู่การพิจารณาที่สัมพันธ์และสอดคล้องกัน นายชินภัทร กล่าวในที่สุด.
************************************
วาสนา / ภาพ / ข่าว
 
แหล่งที่มา/ผู้ส่ง กลุ่มสารนิเทศ