วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขิการ กพฐ.) นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากสถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รมช.ศธ. กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งสอดคล้องกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมกำชับหน่วยงานในสังกัดเพื่อตรวจสอบข้อจำกัดของหนังสือยินยอมการชำระหนี้ โดยต้องตรวจสอบว่าให้มีการหักยอดหนี้ชำระไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน เท่านั้น นอกจากนี้ ศธ. ได้มีการขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เกี่ยวข้อง ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4.75 ซึ่งในขณะนี้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูส่วนหนึ่งที่ได้ให้ความร่วมมือ
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่าที่ประชุมฯ ได้รับทราบถึง “ระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec)” ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์ จัดทำโดย สพฐ. เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. ลงทะเบียนและให้ข้อมูล เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับจำนวนหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้เป็นฐานข้อมูลใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนานโยบายเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขหนี้สินครูต่อไป ในส่วนของการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทยน จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นั้น ที่ประชุมฯ รับทราบถึงการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าวและได้เห็นชอบในการปรับวัตถุประสงค์ในตอนหนึ่งของการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อให้วัตถุประสงค์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และครอบคลุมไปถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ พร้อมส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งในขณะนี้ ธนาคารออมสินเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ยืนยันว่าในระหว่างระยะเวลา 3 ปี จะชะลอการฟ้องล้มละลายแก่ลูกหนี้ โดยหวังว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันการเงินอื่น ๆ ชะลอการฟ้องล้มละลายเช่นกัน
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
1/2/2567