เมื่อไวรัสโควิดบุกระบาดเข้าสู่โลกมนุษย์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในประเทศทั่วโลก นอกจากการรักษาและป้องกันโรคแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหนึ่ง คือ การขาดแคลนอาหารการกิน หรือราคาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการอดอยาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และด้อยโอกาส เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารขนาดใหญ่หลายแห่งต้องปิดตัวหรือลดปริมาณการผลิต เนื่องจากถูกควบคุมการขนส่งข้ามประเทศหรือข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการระบาดของโรคร้าย ประเด็นดังกล่าวกระตุ้นให้ลูกเสือไทย
“เตรียมพร้อม Be Prepared” เพื่อรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหารของโลกในอนาคต โดยได้เตรียมอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้คือ “มะละกอ”
“มะละกอ” เป็นต้นไม้ผลต่างประเทศจากทวีปอเมริกาใต้ ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน สามารถใช้เป็นอาหารได้ทั้งสุกและดิบ “มะละกอดิบ” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารไทยที่ได้รับการยกย่องจาก สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ว่าเป็นหนึ่งในสิบของอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
ส่วนผล “มะละกอสุก” ถูกนำมาใช้ให้บริการแก่ลูกค้าในสายการบินและโรงแรมชั้นนำของไทยมานานแล้ว มีรายงานจากฟิลิปปินส์และอินเดียว่า “น้ำต้มใบมะละกอ” สามารถเพิ่มจำนวนเกร็ดเลือดในผู้ป่วยไข้เลือดออก มะละกอดิบต้มน้ำใช้ชงเป็นชา ช่วยล้างไขมันในลำไส้ ลดไขมันคอเรสเตอรอลในเลือด ยางมะละกอใช้รักษากลากเกลื้อน เท้าเปื่อยฮ่องกงฟูด การขยายพันธุ์มะละกอทำด้วยการเพาะเมล็ด โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จึงจะเริ่มออกผล มะละกอพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย คือ แขกดำ ปลักไม้ลาย ฮอลแลนด์และฮาวาย
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการการศึกษานอกระบบ (กศน.) อุบลราชธานี และนายปัณณพงศ์ ท้าวอาจ ผู้อำนวยการ กศน. จังหวัดแพร่ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการลูกเสือแห่งประเทศไทย ได้จัด ลูกเสือ กศน. หลายพันคน ทำการปลูกมะละกอกว่า 20,000 ต้นในทุกตำบลทั่วจังหวัด แล้วอีก 10 เดือนต่อมา ก็ได้เห็นภาพลูกเสือ กำลังเอื้อมมือเก็บผลมะละกอ ที่เคยปลูกไว้
ความสำเร็จของโครงการปลูกมะละกอโดยลูกเสืออุบลราชธานีและแพร่ เป็นตัวอย่างให้กับลูกเสือกลุ่มอื่น ที่จะเตรียมเก็บสะสมอาหารไว้ที่ต้นมะละกอ เพื่อ “เตรียมพร้อม Be Prepared” ตามคำขวัญของ ลอร์ดเบเดนโพเอลล์ ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก ระหว่างรอรับศึก การขาดแคลนอาหาร ที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาในช่วงสงครามโควิด อันยิ่งใหญ่
ที่มาข้อมูล
อาทร จันทวิมล 08-66-77-5555