เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2562 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
– เปิดอาคาร “พระวิเทศธรรมรังษี” มจร.สุรินทร์
เมื่อเวลา 9.39 น. รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดอาคาร “พระวิเทศธรรมรังษี” (หลวงตาชี) พร้อมทอดผ้าป่า เพื่อพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ โดยมีนายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. และผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มจร.วิทยาเขตสุรินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้บริการการศึกษาพระพุทธศาสนาในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาโท รวม 6 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา และสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
โดยในปีงบประมาณ 2562 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์ “พระวิเทศธรรมรังษี” ให้มีความสมบูรณ์พร้อม สำหรับจัดกิจกรรมตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในการจัดการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร และประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนถึงใช้ประโยชน์ในชุมชนด้วย
“หลังจากได้เยี่ยมชมผลงานคณาจารย์และนักศึกษา ต้องขอแสดงความชื่นชมที่สร้างสรรค์งานวิชาการและการวิจัย บูรณาการเชื่อมโยงสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นวิทยาทานและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนการใช้ชีวิตและการทำงานในภายภาคหน้า และขออานิสงค์ผลบุญของการร่วมสร้างสิ่งดีงามร่วมกัน จงน้อมนำให้ทุกคนประสบความสำเร็จ มีแต่ความสุขความเจริญ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.
– ติดตามการดำเนินงานของ สช.- กศน.-ศส.ปชต.
จากนั้นในเวลา 13.00 น. รมช.ศึกษาธิการ เดินทางต่อไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของการศึกษาเอกชน และการศึกษานอกระบบของ กศน. ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กช. และผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารท้องถิ่น ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนนักศึกษา เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมชาวสุรินทร์และชาว กศน. ที่ได้จัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ โดยมีจำนวนนักศึกษาที่สอบวัดผลสัมฤทธิ์การศึกษาพื้นฐานปลายภาค ผ่านตามเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 80.80 ถือเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นจำนวนที่สูงกว่าการสอบผ่านระดับประเทศ รวมทั้งผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ การศึกษานอกระบบโรงเรียน หรือ N-NET (Non-Formal National Education Test) ที่มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 5 สาระ 39.62 ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าระดับภาค (37.96) และระดับประเทศ (38.86) อีกด้วย
และขอชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ช่วยส่งเสริมและอำนวยการสนับสนุน ให้ กศน.จัดการศึกษาได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งการจัดการศึกษาให้กับคนพิการกว่า 200 คน งานพัฒนาสังคมและชุมชน ตลอดจนการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต และส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องสมุดประชาชนทั้ง 18 แห่ง ทั้งนี้ ขอฝากเกี่ยวกับหลักสูตรภาษาท้องถิ่น (ภาษาเขมร) ในการบูรณาการกับการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารของประชาชน สามารถนำไปประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ขอทุกคนจงภาคภูมิใจ รักศักดิ์ศรีในตัวเอง และพยายามสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ผ่านการจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ เพื่อชุมชน และเพื่อประเทศ ให้สังคมได้เห็นโฉมใหม่เป็น “กศน.WOW” ที่มีคุณภาพในยุค 4.0 ต่อไป
รวมทั้งการดำเนินงานสร้างพลเมืองอาสาประชาธิปไตย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับสำนักงาน กศน. โดยมีศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการทำกิจกรรมประชาธิปไตยระดับตำบล ซึ่งล่าสุด ศส.ปชต.กุดหวาย อ.ศรีขรภูมิ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ปี 2561 ด้วย
เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ทั้ง 41 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนกว่า 5,033 คน ที่มีผลการทดสอบ O-NET ปี 2561 คะแนนเฉลี่ยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ในทุกกลุ่มสาระ ได้แก่ ชั้น ป.6 เพิ่มขึ้น 4.27, ชั้น ม.3 เพิ่มขึ้น 3.32 และชั้น ม.6 เพิ่มขึ้น 3.15 เป็นต้น
ในส่วนของข้อเสนอแนะในการพัฒนาการศึกษาเอกชน ขณะนี้มีหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการจนมีผลสำเร็จชัดเจนแล้ว อาทิ การขยายเพดานค่ารักษาพยาบาลจากคนละ 1 แสนบาทต่อปี เป็น 1.5 แสนบาทต่อปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้น และยังมีอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม), การพัฒนาครู อยู่ระหว่างการจัดทำระบบออนไลน์ เพื่อนำการเรียนการสอนที่ดีให้โรงเรียนเอกชนได้นำไปใช้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ครูจะได้เรียนรู้ด้วย เป็นต้น
ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณที่ช่วยกันสะท้อนปัญหาและอุปสรรคของการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการลงพื้นที่ ต้องการมาดูให้เห็นสภาพการจัดการศึกษาจริงด้วยตัวเอง เพื่อ “ทลายทุกข้อจำกัด” ให้หมดไป ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์แก่ครูและบุคลากร ศธ.และสร้างความสุขแก่เเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนประชาชนต่อไป
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน:ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
16/9/2562