ร่วมเสวนา

โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ขาดคน ขาดคุณภาพ ต้องปรับตัวอย่างไร” ในการสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2557 เรื่อง โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรไปโลด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์



รมว.ศธ.กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราใช้เวลาไปมากกับการปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงที่มีข้าราชการระดับ 11 ถึง 5 คน ซึ่งมีฐานะเป็นปลัดกระทรวงและขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีทุกคน โครงสร้างที่สร้างขึ้นมาก็มีการขยับเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง และต้องคอยแก้ผลกระทบที่ตามมาจนถึงขณะนี้ จึงมีการปฏิรูปการเรียนการสอนและการพัฒนาครูไม่มากนัก เมื่อให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอนน้อย ทำให้เรื่องใหญ่ๆ ของการศึกษาไม่ได้รับการดูแล


โดยเฉพาะเรื่องของหลักสูตร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพราะการจะสอนคนให้เป็นอย่างไร จะผลิตคนแบบไหน อยู่ที่หลักสูตร กระบวนการทำหลักสูตรของไทยใช้วิธีการเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคณะกรรมการ และระดมความคิดกันแล้วแยกย้ายกันไป เมื่อผ่านไปหลายปี จะทำหลักสูตรใหม่ ก็เชิญมาใหม่ เราไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง


ในขณะที่การเรียนการสอน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู องค์กรระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก รวมถึงประเทศที่พัฒนาและประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาได้มีการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของคน มหาวิทยาลัยในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา เมื่อ 8 ปีที่แล้วได้กำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่จะได้เกียรตินิยมว่า จะต้องเป็นผู้ที่คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้กลายเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ประเทศไทยใช้เกรดเป็นเกณฑ์ตัดสินในการได้เกียรตินิยม


ปัจจุบัน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ยังไม่ทราบได้ว่าเมื่อจัดไปแล้วมีผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร เพราะไม่มีระบบการทดสอบกลาง ทั้งในระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะมีการจัดสอบ O-NET เมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่ก็ต้องสร้างมาตรฐานและให้ครอบคลุมมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการนำการทดสอบกลางมาใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เพื่อให้เด็กแข่งขันกัน แต่เพื่อให้ประเทศ ผู้จัดการศึกษา สถานศึกษา และครูผู้สอนได้ทราบว่าการจัดการศึกษาเป็นอย่างไร ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นอย่างไร และการจัดการสอนของผู้สอนได้ผลอย่างไร นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการทดสอบ Proficiency Test ภาษาไทย สำหรับคนไทย เพื่อวัดผลทางภาษาอีกด้วย


การที่มหาวิทยาลัยผลิตคน และจัดการสอนโดยคำนึงถึงความสามารถและความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการปริญญา มากกว่าที่จะจัดการสอนให้สอดคล้องความต้องการของภาคเอกชน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากการจัดการศึกษาของไทยไม่มีระบบที่เชื่อมระหว่างความต้องการของภาคเอกชนกับฝ่ายจัดการศึกษา ศธ.จึงต้องการให้ช่วยกันคิดเรื่องระบบดังกล่าว อาจจะจัดโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันผลิตคน ผลิตนวัตกรรม ให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น


ทั้งนี้ หากเราจัดการและแก้ปัญหาของการอาชีวศึกษา จะง่ายกว่าระดับอุดมศึกษามาก เพราะเรามีผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 9 แสนคน, ในจำนวนนี้มีผู้ที่ไม่เรียนต่อและเข้าสู่ตลาดแรงงานเลยหรือไปทำงานโดยไม่มีทักษะประมาณ 1 แสนคน ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับเงินเดือนน้อยมาก, ส่วนอีกประมาณ 8 แสนคนที่เหลือหรือ 34 เปอร์เซ็นต์เลือกศึกษาต่ออาชีวศึกษา และอีก 66 เปอร์เซ็นต์ศึกษาต่อสายสามัญ ก็ต้องมาแก้ปัญหา เพราะผู้ที่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เมื่อจบการศึกษาออกมาแล้วก็ตกงาน ในขณะที่ผู้ที่ศึกษาต่ออาชีวศึกษามีจำนวนน้อย แต่โอกาสมีงานทำมีมากกว่า


ศธ.จึงได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสายสามัญในปี 2558 ให้เป็น 51:49 เพื่อจะบอกว่าควรจะมีผู้เรียนอาชีวศึกษามากกว่าสายสามัญ การดำเนินการเพื่อไปสู่สัดส่วนดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการด้วยการออกระเบียบกฎเกณฑ์กติกาหรือผลักดันผู้ที่เกรดไม่ถึงเกณฑ์ ห้ามเรียนต่อสายสามัญ แต่เรื่องสำคัญคือ จะต้องมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับทางอาชีวศึกษา ฝ่ายจัดการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเพิ่มเรื่องทวิภาคีที่ร่วมกันจัดการศึกษา เช่น การฝึกอบรมในสถานศึกษา การฝึกอบรมในสถานประกอบการ และจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ในลักษณะของการยกระดับ และทำตลอดกระบวนการ อีกทั้งจะต้องมีการสำรวจความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้วยว่ามีความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพนั้นๆ เป็นจำนวนเท่าใด


ที่สำคัญคือ ต้องสำรวจว่าในแต่ละกลุ่มอาชีพต้องการคนที่ทำอะไรเป็นบ้าง แล้วจึงมากำหนดเป็นหลักสูตรการอบรม การฝึกอบรมร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดการผลิตคนได้ตรงกับความต้องการ มีเงินเดือนรายได้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศไทย นอกจากนี้มีการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพมาใช้ เพื่อจะได้จ้างคนได้ตามความสามารถ ตามมูลค่าเพิ่มที่จะสร้างให้กับอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมทั้งมีความร่วมมือกับประเทศที่มีความถนัดทางด้านการอาชีวศึกษาประมาณ 5-7 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมาก เพื่อนำโมเดลและมาตรฐานมาใช้ พร้อมทั้งดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในวิทยาลัยต่างๆ


อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนให้เป็น 51:49 ตามเป้าหมาย ประเทศไทยก็จะเดินต่อไปไม่ได้เพราะแรงงานไม่พอต่อความต้องการของประเทศ จะหวังพึ่งแรงงานต่างชาติก็ไม่ได้ เพราะในอนาคต เทคโนโลยีก็จะสูงขึ้น และจะต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น หรือความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้น ดังนั้น จะต้องจูงใจคนให้มาเข้าสู่การเรียนอาชีวศึกษามากขึ้นให้ได้ โดยทำให้เห็นว่าผู้เรียนจะได้เรียนอะไร แบบไหน และจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างไร


สิ่งที่ ศธ.พยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการระดม เชิญชวนนักคิด นักการศึกษา ภาคเอกชน และภาคสังคมที่สนใจมาช่วยกันคิดในเรื่องต่างๆ รวมทั้งวางระบบและนโยบาย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะต้องมีการสอนและส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์เป็น โดยจะต้องทำทั้งระบบการศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน


กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

2
2/11/2556


ติดตามภาพข่าวที่ https://www.moe.go.th/websm/2013/nov/403.html