เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับคณาจารย์และลูกหลานนักเรียนโรงเรียนสารวิทยา ในช่วงเวลาหลังเคารพธงชาติ ณ บริเวณสนามหน้าเสาธง จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงาน ระยะที่ 2 สำหรับทีมเคลื่อนที่เร็ว (Roving Team : RT) โรงเรียนคุณธรรม และทีมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด่วนพิเศษ (Express Moral Service : EMS) และการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า การมาพบปะกับผู้บริหาร ครูอาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนสารวิทยาในครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือครู ผู้บริหาร นักศึกษาฝึกสอน และนักเรียน ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งมีตัวชี้วัด 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยสามารถร่วมกันดำเนินการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อให้พระองค์ทรงสถิตเสถียรอยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทยตลอดไป อีกทั้งเป็นการถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำรัสมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่วงการศึกษาและลูกหลานเยาวชนสืบไป
พร้อมกล่าวฝากให้ลูกหลานนักเรียนอย่าลืมเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ด้วยการดำรงไว้ซึ่งความรักและความเคารพที่มีต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ ต้องไม่ลืมความเป็นชาติและความภาคภูมิใจในความเป็นเอกราช
โอกาสนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้ร่วมพิธีไหว้ครูของโรงเรียนสารวิทยา ร่วมกับคณาจารย์และนักเรียนด้วย
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในเรื่องของกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ต้องเริ่มจากการประชุมร่วมระหว่างโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และสมัครใจเข้าร่วม คัดเลือกครูเพื่ออบรมเป็นวิทยากรแกนนำ กำหนดเป้าหมาย ทั้งพฤติกรรมบ่งชี้บวก คุณธรรมเป้าหมาย พร้อมจัดทำตารางคุณธรรมอัตลักษณ์ และกำหนดวิธีปฏิบัติงาน สร้างแบบอย่างพฤติกรรมด้านคุณธรรม บูรณาการการเรียนการสอน พัฒนาสภาพแวดล้อม จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน ตลอดจนนิเทศติดตาม
ส่วนแนวทางการพัฒนาค่านิยมคนไทยนั้นมีหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ในครอบครัว เน้นฝึกเด็กพึ่งพาตนเอง ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย มีความรับผิดชอบให้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยมีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง, การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในกิจกรรมการเรียนการสอน, การปรับวิธีเผยแพร่หลักศาสนาให้เข้าใจง่าย, การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน, การจัดสรรเวลาและพื้นที่สำหรับสื่อสร้างสรรค์, การมีวัฒนธรรมการทำงานที่พึงประสงค์อย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงาน โดยมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัยทั้งในโรงเรียนและในครอบครัว อันจะส่งผลถาวรไปจนเติบใหญ่
สำหรับสถานศึกษานอกจากจะต้องอบรม บ่มเพาะ ด้วยรูปแบบวิธีการและขั้นตอนตามแผนงานแล้ว การติดตามผลการดำเนินงานก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้โครงการโรงเรียนคุณธรรมมีความก้าวหน้า เกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงขอฝากศึกษานิเทศก์ให้ใช้แนวทางการนิเทศแบบกัลยาณมิตร ทำหน้าที่คอยไต่ถาม ดูแล แนะนำให้คำปรึกษา ให้สถานศึกษาดำเนินงานไปได้ถูกทาง หากจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนตามขอบเขตหน้าที่ที่พึงกระทำ เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพมากกว่าการเน้นปริมาณ
นายณรงค์ แผ้วพลสง กล่าวถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า สพฐ.ต้องการพัฒนาผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ตามกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม พร้อมได้แต่งตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว (Roving Team : RT) ระดับเขตตรวจราชการ จำนวน 225 คน และทีมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด่วนพิเศษ (Express Moral Service : EMS) จำนวน 50 คน รวมจำนวน 275 คน เพื่อลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการตามแผนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อมุ่งหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนพัฒนาแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สพฐ.จะขยายผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ให้ครอบคลุมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายขอบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั่วทั้งประเทศ
นอกจากโครงการนี้ สพฐ.ได้ขอความร่วมมือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน คัดเลือกครูเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่การเป็นครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรม ตามแนวทางของมูลนิธิยุวสถิรคุณ โรงเรียนละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 208 คนด้วย
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
16/6/2560