ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

กระทรวงศึกษาธิการ มอบ กศจ.ฉะเชิงเทรา จัดเตรียมแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมี รมช.ศึกษาธิการ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” และรองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมประชุมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดฉะเชิงเทรา



เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมโตโยต้า (สุวินทวงศ์) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางจินตนา มีแสงพราว ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 3, ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งผู้แทนภาคส่วนราชการ, ภาคเอกชน, สถานศึกษา, สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า เรื่องของการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันตามความต้องการของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขตพื้นที่ของประเทศไทย, โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมทั้งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดในทุกมิติ ให้เหมาะกับการอยู่อาศัย การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การศึกษา และอื่น ๆ อันจะนำไปสู่การเป้าหมายการเป็นเมืองน่าอยู่และน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน สร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ ลงทุนภาคอุตสาหกรรมแบบไร้มลภาวะ ตลอดจนยกระดับพื้นที่สู่มาตรฐานนานาชาติ


สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา (หรือแปดริ้ว) ถือว่าเป็นอีกจังหวัดที่มีความพร้อมแบบครบเครื่อง ทั้งลักษณะและที่ตั้งของเมือง เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความพร้อมด้านการศึกษา เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ นับได้ว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ โดยจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดที่ชัดเจน มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ติดตามและประเมินผลให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งมีการนำผลการวิจัยหรือองค์ความรู้จากการศึกษาเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกำลังคน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนด้วย



นายกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวแสดงความยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ พร้อมให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับจังหวัดฉะเชิงเทราว่า มีพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีประชากรกว่า 7 แสนคน และมีสถานศึกษารวม 378 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัย 1 แห่ง สถานศึกษาอาชีวศึกษา 15 แห่ง โรงเรียน 351 แห่ง (โรงเรียนรัฐ 325 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 26 แห่ง) และสถานศึกษาของ กศน. 11 แห่ง โดยมีการจัดการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2560-2564 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ


– ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างผู้เรียนให้เป็นคนดีอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
– ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
– ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีทักษะชีวิต
– ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ กศจ.ฉะเชิงเทรา คาดหวังว่าการศึกษาจะช่วยสร้างให้เด็ก เยาวชน และชาวแปดริ้ว มีคุณลักษณะที่โดดเด่น มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย มีความปลอดภัย ประชากรมีคุณภาพ รองรับการยกระดับเป็นระเบียงเศรษฐกิจ โดยมีสิ่งสำคัญคือ การที่ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างรู้แจ้งเห็นจริง ก่อนที่จัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ เพื่อที่เด็กจะได้รับรู้ข้อมูลจริงและนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป


ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดได้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรม “รวมพลัง สร้างคน สร้างงาน : แปดริ้วโมเดล” ที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านฝีมือแรงงาน เพิ่มทักษะการผลิตด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม คมนาคมขนส่ง และการบริการ ตลอดจนการปฏิบัติงานที่มีศักยภาพสูงขึ้น โดยคาดหวังให้เกิดการประกอบอาชีพอิสระ การเข้าสู่ตลาดแรงงาน การประกันการมีงานทำ และสร้างความเชื่อมั่นในการเรียนต่อสายอาชีวศึกษา ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรมส่งผลต่อแนวโน้มการเรียนต่อสายอาชีพที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 เรียนต่อสายอาชีพร้อยละ 68.10 (711 คน), สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 เรียนต่อสายอาชีพร้อยละ 70.96 (882 คน), โรงเรียนเอกชน เรียนต่อสายอาชีพร้อยละ 43.70 ( 3,660 คน) เป็นต้น


นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า มีสถานศึกษาในสังกัดอาชีวะ 15 แห่ง (รัฐ 7 แห่ง, เอกชน 8 แห่ง) เพื่อจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน จำนวน 10,776 คน ใน 5 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบปกติ การศึกษานอกระบบ การศึกษาทวิภาคี การศึกษาระดับทวิศึกษา และการศึกษาระบบทวิวุฒิ เน้นจัดการศึกษาทั้งในสาขากลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยผู้เรียนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 55 ให้ความสนใจเรียนในรูปแบบทวิภาคี (โรงเรียนในโรงงาน และโรงงานในโรงเรียน) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) กับภาคอุตสากรรม ในการผลิตนักเรียนนักศึกษาตอบสนองการพัฒนาจังหวัดเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAPMA)


นายวสันต์ รัชชวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในปี 2559 สำนักงาน กศน.จังหวัด ได้จัดการศึกษาเรียนรู้แก่ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 10,618 คน และการศึกษาต่อเนื่อง จำนวน 34,721 คน มีสถานศึกษาในสังกัด ได้แก่ ศูนย์การศึกษา กศน.อำเภอ 11 แห่ง กศน.ตำบล 93 แห่ง และมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนกว่า 158 แห่ง ตลอดจนห้องสมุดประชาชาชนและห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี เพื่อบริการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนอย่างทั่วถึง โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการและเผยแพร่ความรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประชาชนในหลายโครงการ อาทิ การจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่, โครงการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับคนพิการ, ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม), หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยความปลอดภัย, โครงการหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ, การส่งเสริมการอ่านในห้องสมุดประชาชน เป็นต้น


ผศ.ดร.ดวงพร ภู่พะกา รองอธิการบดีวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมุ่งจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ เป็นที่พึ่งพาของท้องถิ่น เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของชาวแปดริ้ว ให้กินดี อยู่ดี มีความสุข และหลุดพ้นจากความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ส่วนการขับเคลื่อนการศึกษารองรับระเบียงเศรษฐกิจนั้น มีแนวคิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศไทย 4.0 และขณะนี้ได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ โครงการทางคู่ (Meter Gauge) โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในการวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ในการพัฒนาระบบโครงข่าย การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและจัดการเดินรถ และเทคโนโลยีการเดินรถ การพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟในการสร้างสรรค์ การดูแลและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีรถไฟ เป็นต้น


นายร่มไทร ทิพยเศวต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ขณะนี้ประเทศต้องการนวัตกรรมที่เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมได้ร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัด โดยเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ที่จะร่วมกันพัฒนาผู้เรียนต้นแบบตามแนวคิด STEM เน้นวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จะช่วยสร้างความมีเหตุผลและประมวลความคิด จากนั้นร่วมมือกับ สอศ.เพื่อพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ร่วมพัฒนาอาชีวศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยี และแก้ไขจุดด้อยต่าง ๆ ไปพร้อมกับสถานศึกษา นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งต่อผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา จึงได้จัดตั้งสมาร์ทซิตี้ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ให้เป็นเสมือนศูนย์เรียนรู้และฝึกประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง


นายจิตรกร เผด็จศึก รองประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การจะพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้เป็น “ที่อยู่อาศัย” รองรับการขยายตัวในระเบียงเศรษฐกิจทุกรูปแบบ ควรใช้พื้นฐานด้านการเกษตรซึ่งมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว มาผสมผสานกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยในส่วนของการศึกษาจะต้องเร่งสร้างหลักสูตรเกษตรปลอดภัยในรูปแบบเกษตรอุตสาหกรรม การปรับวิถีเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และปลูกฝังการทำเกษตรสู่รุ่นลูกหลานเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้การอุดมศึกษาจะต้องสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และพัฒนาหลักสูตรด้านคุณธรรมจริยธรรมในการทำงานแก่เยาวชน ตลอดจนถอดบทเรียนจากชาวแปดริ้วที่ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ต่อไป ทั้งนี้ได้กล่าวฝากให้มีการพัฒนาครูกระจายไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างทั่วถึงด้วย


นอกจากนี้ ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้
ขาดแคลนกำลังคน ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกำลังขาดกำลังคนในระดับ ปวช. และ ปวส. จำนวนมาก เนื่องจากผู้เรียนไม่นิยมเรียนสายอาชีวะ เพราะมีค่านิยมในการเรียนระดับปริญญา ผู้ปกครองมีความกังวลด้านภาพลักษณ์ ตลอดจนเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนไม่สูงมากนัก จึงเสนอให้พัฒนาการเรียนการสอนอาชีวะอย่างเข้มข้นและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยเน้นผลิตสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นความต้องการของพื้นที่
รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ควรปลูกฝังความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแก่นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรอันมีค่าของจังหวัดไว้อย่างยั่งยืน
บูรณาการความรู้สู่ห้องเรียน การผลักดันการศึกษาให้ผลิตคนรองรับระเบียงเศรษฐกิจได้ ต้องสร้างการรับรู้ของนักเรียนนักศึกษาอย่างทั่วถึง โดยอาจใช้วิธีบูรณาการความรู้เกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจไว้ในบทเรียน การเรียนรู้ หรือการเรียนการสอน พร้อมทั้งร่วมมือกับชุมชนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
7/2/2560