ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2560 จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วางแผนดำเนินงานร่วมกันในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกใน 3 จังหวัดดังกล่าวและจังหวัดอื่นที่ติดต่อ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นประธานเปิด และ “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ร่วมรับฟังแผนการจัดการศึกษาในพิธีปิดการประชุมสัมมนา



ข้อคิดเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำไมคนไทยต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ต้องการมาแบ่งปันความคิดและความเห็นในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ส่วนใดที่คิดว่าเป็นประโยชน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำไปใช้ได้ เพราะมาให้ข้อคิดเห็นในฐานะผลผลิตส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาในประเทศไทย ที่เคยเป็นทั้งอาจารย์ นายกสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร เป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รับผิดชอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และท้ายที่สุดคือเป็นพ่อของเด็กผู้ชาย 3 คน ซึ่งเคยผ่านการเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในไทยมาก่อนที่จะไปอยู่ต่างประเทศกันหมด


ซึ่งเคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ทั้งที่ชีวิตคนแสนสั้นที่จะอดคิดถึงลูกไม่ได้เมื่อจากกันไปเรียนไกล ๆ แต่เราก็จำใจต้องส่งไปและยอมเสียสละ เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา


“คน” และ “การศึกษา” เป็นของคู่กันต่อความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ


ทุกท่านคงทราบดีว่า ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศที่ดีที่สุด คือ การพัฒนาคน ซึ่งคนจะมีความสามารถสูงได้ก็มาจากระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นหากประเทศใดมีคุณภาพการศึกษาที่ดี มีคุณธรรม ประเทศเหล่านั้นจะก้าวกระโดดมาก แต่ประเทศใดที่ล้มเหลวทางการศึกษา ในระยะสั้นอาจจะอยู่ได้ แต่ระยะยาวอาจทรุดลงไปเรื่อย ๆ เหมือนตัวอย่างที่มีให้เห็นในเวลานี้ ดังนั้น “คน” และ “การศึกษา” จึงเป็นของคู่กัน


ดังนั้น สิ่งสำคัญของการจัดการศึกษา คือ ต้องสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศให้ได้  หากจัดการศึกษาไปคนละทิศละทาง พลังที่ควรจะเกิด และทรัพยากรที่ทุ่มลงไป ก็จะไม่เกิดผลใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลนี้กำลังจะเดินไปทางไหน.. การศึกษาจะทำได้อย่างไร.. การส่งเสริมนโยบายของรัฐ หรือ 3 จังหวัด ECC จะช่วยกันพัฒนาประเทศได้อย่างไร.. สิ่งเหล่านี้จะขอกล่าวในภาพรวม สิ่งที่คิดในวันนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ตั้งใจจะทำ และที่ผ่านมาหลายนโยบายก็เป็นความโชคดีที่นายกรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง


● ให้ข้อคิด: ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ 3 ด้าน: ขาดดุลยภาพการเติบโต-ปัญหาการส่งออก-โครงสร้างทางเศรษฐกิจ


เรื่อง ECC เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเมื่อก่อนในยุคโชติช่วงชัชวาล สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิด Eastern Seaboard ขึ้นจนส่งผลทำให้ประเทศเราได้อานิสงส์เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราเริ่มชะงักงันและถดถอยลงมาโดยตลอด จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 7-8% หากไม่กระตุ้นจะร่วงลงมาเรื่อย ๆ เหลือ 3-4% และยิ่งมาเจอกับสถานการณ์การเมืองที่บ้านเมืองวุ่นวายจะเหลือเพียง 0.8% เท่านั้น เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่โตเอา ๆ ซึ่งมาจากสาเหตุหลายประการ


ประการแรก  เราขาดดุลยภาพจากการเติบโต ส่วนใหญ่เราพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วนของรายได้มากถึง 70% แต่เมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น การส่งออกของเราก็ชะงักงันทันที ส่งผลถึงเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ขาดความเจริญ ความเอาใจใส่ ยากจน ขาดอำนาจซื้อ ส่งผลให้ตลาดในประเทศไม่เพียงพอต่อการผลิตได้ ทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไปเพื่อการพัฒนาจึงกระจุกแต่ไม่กระจายลงไปท้องถิ่น ส่วนสินค้าที่เราผลิตก็ยังพื้น ๆ ความแตกต่างเท่าเทียมจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ


ประการที่สอง เมื่อเราเน้นการส่งออก สินค้าที่เคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง ฯลฯ รวมทั้งค่าแรงของเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 2 เท่าโดยเฉลี่ย ดังนั้นฐานการผลิต รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เคยสร้าง GPP ให้เราเหล่านี้ก็จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น ในขณะที่สินค้าที่สร้างความเชิดหน้าชูตาให้เราเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลมากขึ้น เพราะเริ่มแข่งขันไม่ได้ ราคาตกต่ำลง ตัวอย่างปีที่แล้วทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มลงไปช่วยเกษตรกรเป็นแสน ๆ ล้านบาท ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะทั้งชีวิตของเกษตรกรอยู่ที่สินค้าไม่กี่ตัว ในขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ ก็เริ่มแข่งขันได้น้อยลง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น


ดังนั้น หากเราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า หรือเกิดการคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างมูลค่าและอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ในอนาคตอันใกล้ รายได้ในอนาคตของเราก็จะค่อย ๆ ลดลง ความฝันที่ให้ GDP เติบโตเป็น 20% ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เหมือนฝันกลางวัน เพราะอย่างเก่งคงทำได้เพียง 4% สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่เป็นอยู่ แม้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสินค้าส่งออกของเราจะพลิกจากติดลบเป็นบวก แต่ก็เป็นเพราะมาจากสาเหตุราคาน้ำมันตกต่ำลง  และเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เมื่อเริ่มดีขึ้น เราก็จะเป็นบวกขึ้น แต่หากประเทศเหล่านี้ทรุดลงอีกเมื่อไร เราก็จะทรุดตาม


จึงเตือนสติว่า การปฏิรูปประเทศเท่านั้นที่จะช่วยได้ เพราะไม่มีทางลัดอื่นใด แต่การปฏิรูปที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในเวลานี้กว่าจะเห็นผลเกิดขึ้นได้ใน 3-4 ปีข้างหน้า ขอย้ำว่าหน้าที่ของรัฐบาลจะไม่ทำอะไรตามใจไปเสียทุกเรื่อง แต่ต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เพื่ออนาคตของประเทศ อาจจะขัดใจประชาชนบ้างบางเรื่อง ก็เหมือนกับพ่อแม่ที่ดีย่อมไม่ตามใจลูกทุกเรื่อง หากเห็นหนทางที่ดีกว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราจึงจะไม่กังวลเรื่องของการหาเสียง ดังนั้นอะไรที่สำคัญ, รัฐบาลจะทำเลย


ประการที่สาม  โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราอยู่ที่บริษัทชั้นนำเพียง 50 กว่าบริษัทเท่านั้นที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ในจำนวนนี้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 20 บริษัทเท่านั้น จึงทำให้กระจุกตัวอยู่เพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นการผลิตช่าง วิศวกร เข้ามาเป็นแรงงานเพื่อหนุนเครื่องจักรเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนน้อย เปรียบเสมือนประเทศซึ่งป่ามีน้อย มีต้นไม้ใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่ต้น หรือมีแต่ไม้ล้มลุก ประเทศนั้นย่อมไม่มีฝนตกชุก ต่างจากประเทศที่มีต้นไม้ป่าเต็มไปหมด ฉันใดฉันนั้น โครงสร้างการผลิตต้องประกอบด้วยผู้ประกอบการจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งเท่านั้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างบริษัทในอนาคตให้มากขึ้น ซึ่งบริษัทที่เกิดใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะจะกลายเป็นข้อจำกัดในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น บริษัทใหญ่ ๆ ทุกวันนี้ล้วนเติบโตมาจากบริษัทเล็ก ๆ ที่จะกล้าคิดกล้าทำ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเช่น Samsung จะไม่สามารถทำให้บริษัทเล็กลงได้ แต่ก็สามารถปรับโครงสร้างบริษัทย่อย ๆ ให้เล็กลง ให้ขั้นตอนการทำงานเล็กลง ระดับขั้นในการสั่งงานรวดเร็วขึ้น


ดังนั้น ในการสร้างบริษัทใหม่ ๆ จึงควรส่งเสริมให้เกิดผู้ที่คิดอ่านทางเศรษฐกิจได้ หรือ Startup เปรียบเป็น “วุ้น” โดยที่รัฐบาลจะหาเงินลงทุนให้ หรือต่อท่อเข้าไปในบริษัทวุ้นเหล่านี้ ให้เติบโตขึ้นมาได้เป็น SME และช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้เติบโตขึ้นมา จนกลายเป็นสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ซึ่งขอเรียกว่าเป็น “เศรษฐกิจบนฐานของผู้ประกอบการ”


เพราะฉะนั้น นี่คือความฝันในการสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น



ย้ำถึงความมุ่งหวังของรัฐบาล ต้องการให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และกระจายไปยังชุมชน


ความมุ่งหวังของรัฐบาลคือต้องการให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างพื้นที่เศรษฐกิจในท้องถิ่นจะเติบโตได้ เกษตรกรต้องรู้ว่าจะผลิตอะไร ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้อย่างไร เช่น ข้าว แทนที่จะเป็นข้าวสารธรรมดา ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นข้าวที่ราคาสูงขึ้นโดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วย หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 30 ล้านคน แม้บ้านเราจะเป็น Critical Beauty คือ เข้ามาเที่ยวก็เพราะมีความสวยงามและงดงามในความสนุกตื่นเต้นที่หลากหลาย แต่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ๆ ของเราเท่านั้น จะทำอย่างไรให้เข้าไปซื้อสินค้า OTOP ในชุมชน เพราะฉะนั้น เราจึงควรพัฒนาหมู่บ้านที่สร้าง OTOP ไม่ใช่แค่สร้างสินค้า OTOP เพราะจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวได้เข้าไปซื้อสินค้าในชุมชนนั้น ๆ เห็นที่มาของการผลิตสินค้า เงินก็จะสะพัดในชุมชนแห่งนั้น เป็นการกระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวออกไปในชุมชน


ยิ่งในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตครบทุกหมู่บ้าน สินค้าในชุมชนจึงสามารถนำไปฝากขายใน e-Commerce ออกไปทั่วโลกได้อีกด้วย เราจึงต้องเตรียมการจัดระบบโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนตลาดเหล่านี้ที่จะเติบโตขึ้น ดังนั้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จึงจำเป็นต้องดูองค์รวมแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่นับจำนวนหัวนักท่องเที่ยวแล้วคิดว่าเป็นอัตราการเติบโตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราสร้างกลุ่มจังหวัดแบบูรณาการ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะเราไม่ต้องการสร้างแค่ถนนหนทางเข้าไปในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหลักสำคัญและมีงานที่หนักมาก แต่ก็เป็นคนสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้เติบโตเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต


สถานศึกษาต้องมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมต่อยอดอาชีพ กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่


สำหรับมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอาชีวศึกษา ต้องมีส่วนสำคัญเช่นกันที่จะช่วยสอนให้เกษตรกรรู้จักการแปรรูป วิธีจัดการสมัยใหม่ ารออกแบบสินค้าผลิตภัณฑ์ แบรนด์ การตลาด การค้าขายผ่าน e-Commerce ฯลฯ หรือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กปี 3-4 เกิดความเชื่อมโยงกับการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่ใช่เป็นแค่ออกไปรับจ้างหรือใช้แรงงาน เพราะเราคงไม่สามารถให้ชาวบ้านคิดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ได้เข้าใจเท่าสถาบันการศึกษา


ในอีกทาง เราต้องสร้างความสามารถด้านวิชาชีพในอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ให้เข้มข้นขึ้น และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ให้เกิดการต่อยอดหรือได้เปรียบมากขึ้น เช่น การแพทย์สมัยใหม่หรือการรักษาสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่อยอดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เราเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมทั้งผลผลิตจากอุตสาหกรรมการบิน เช่น การบำรุงรักษาเครื่องบิน ซึ่งเราเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ฯลฯ


แนะให้สถาบันการศึกษาคิดและสร้าง Creative Economy


อีกอุตสาหกรรมสำคัญที่เราไม่เคยพูดถึง คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพราะหากเรานำเอาสิ่งเหล่านี้ไปร่วมกับผลิตภัณฑ์ จะกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ฟิล์ม เกม ดนตรี การท่องเที่ยว ช่างฝีมือ (Handicraft) ศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ซึ่งชาติอื่นไม่มี หากเราต่อยอดธุรกิจให้ขายได้ จะยิ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ หรือในเรื่องการออกแบบ (Design) ที่เรายังตีความหมาย design น้อยเกินไป เหมือนสินค้า iPhone ที่ดีไซน์ต้องมาก่อนที่จะบรรจุเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าไปในมือถือเครื่องนี้ แม้แต่เก้าอี้ธรรมดา ๆ หากนำมาดีไซน์ให้ดี ก็ขายได้ในราคาที่สูง หรือแม้แต่ขนมบ้านเรา เช่น กาละแม ข้าวเกรียบ ตังเม หากสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ก็สามารถขายได้ในราคาแพงกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่า เรื่องเหล่านี้ต้องฝากสถาบันการศึกษาช่วยคิดและสร้าง Creative Economy ขึ้นมา


สำหรับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) นั้น สถาบันการศึกษาต้องเร่งผลิตผู้เรียนที่มีทักษะ มีฝีมือ ช่างเทคนิคชั้นสูงเพื่อรองรับ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนโดยเปลี่ยนเครื่องจักรจากธรรมดาไปสู่ดิจิทัล ไปสู่ Sector ภาคบริการ การท่องเที่ยว หรือสร้างวิชาชีพผู้ประกอบการรายย่อยรองรับ ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศควรออกแบบหลักสูตรไปช่วยท้องถิ่นหรือภาคบริการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานอีกกลุ่มมาสู่อีกกลุ่ม จึงเป็นความจำเป็นที่จะเน้น Creative Economy มากขึ้น โดยขอให้มหาวิทยาลัยผลิตผู้เรียนในสาขากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ให้เพียงพอในอนาคต รวมทั้งการผลิตพัฒนาช่างอาชีวะ วิศวกร และนักวิจัยให้มากขึ้นด้วย


● ต้องการให้ดึงคนเก่ง ๆ ระดับโลกเข้ามาในพื้นที่ เพื่อร่วมพัฒนาและเรียนรู้จากคนเหล่านั้น


ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องดึงคนเก่ง ๆ ระดับโลกให้เข้ามา โดยเพิ่มแรงจูงใจให้คนเก่ง ๆ หรือผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามา รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตกลุ่มอุตสาหกรรมในกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เราท้าทายสิงคโปร์แล้วในการสร้างความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องการจูงใจด้านภาษีแบบคงที่ 17% หรืออาจจะเป็นแบบขั้นบันไดก็แล้วแต่ให้เท่าสิงคโปร์ และเร็ว ๆ นี้จะมีเงินกองทุนหมื่นล้านสำหรับการส่งเสริมสนับสนุน และเงื่อนไขจูงใจให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามา โดยไม่ปิดกั้นอาชีพใดเป็นอาชีพสงวน เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ไม่มีอาชีพสงวน ซึ่งหากเราได้คนเก่ง ๆ ระดับโลกเข้ามา เรายิ่งจะได้เรียนรู้จากบุคคลเหล่านี้ได้มากขึ้น


● ฝาก ศธ.เร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคน


มหาวิทยาลัยจึงต้องให้ความสำคัญในการสร้าง “คน” และ “องค์ความรู้” รองรับด้วย ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยใดของบประมาณเพื่อสร้างตึก จะถูกตัดงบประมาณไม่ให้เลย เพราะมีแต่ตึกไม่มีสมอง ยิ่งเสียค่าค่าน้ำไฟมากขึ้นไปอีกด้วย ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ความต้องการใช้บุคลากรประเภทใด สาขาใด ปีละเท่าใด อะไรบ้าง


● ให้เร่งสร้าง Character ที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็กตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน


อีกเรื่องที่ย้อนไปถึงข้างต้นที่ได้กล่าวคือ การเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศ ขณะนี้สถาบันชั้นนำของต่างประเทศให้ความสำคัญในการพิจารณา Profile ของผู้เรียนเป็นหลักในการรับผู้เรียน เช่น การมีภาวะผู้นำ จิตสาธารณะ ผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ดังนั้นโรงเรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษาควรทำ Profile ผู้เรียนแต่ละคนให้ชัดเจน เพราะหากโรงเรียนไม่ทำ ก็อย่าหวังว่าเด็กจะได้ไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำต่างประเทศอีก


เหตุผลที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เวลา 2 ชั่วโมงในช่วงบ่ายของทุกวันเป็นโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็เพื่อสร้างเด็กให้มีทักษะ (Skill) ในวิชาอื่น ๆ และอีกด้านคือ เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเด็ก (Character) ซึ่งเด็กต่างประเทศจะได้รับการปลูกฝังอย่างมากในเรื่องความมีคาแรคเตอร์ที่รักชาติบ้านเมือง ความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การปลูกฝังให้รักษาสิ่งแวดล้อม เกลียดการคอร์รัปชัน การเคารพในสิทธิมนุษยชน ฯลฯ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการต้องสร้างเด็กให้มีคาแรคเตอร์ที่สำคัญเหล่านี้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป เพราะหากกระทรวงศึกษาธิการทำตรงนี้ได้สำเร็จ ต่อไปเราจะมีผู้นำที่เก่งและดี ไม่ใช่มีผู้นำที่โกงอีกต่อไป


● ย้ำถึงความสำคัญของระบบการศึกษาทางไกล


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวถึงระบบการศึกษาทางไกลด้วยว่า เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะต่อไปประเทศไทยจะขยายอินเทอร์เน็ตไปครบทุกหมู่บ้าน เราจึงต้องดึงครูมา retrain ในเรื่องนี้ และต้องการให้มีครูชั้นดีและเก่งที่สามารถทำคลิป (Clip) การสอนได้ เช่น คลิปการสอนคณิตศาสตร์ ภาษา แล้วส่งผ่านไปยังระบบการศึกษาทางไกล หรืออาจะทำเป็น DVD ก็ได้ เพื่อจะได้เป็นการไปช่วยสอนหรือแนะนำครูรายอื่น ๆ รวมทั้งเด็กบ้านนอกจะได้อ่าน ได้ดูคลิปจากครูชั้นดี ทำให้เรียนสนุก ไม่ง่วงหลับ ลดการไปติวนอกห้องเรียนอีกด้วย


ขอให้ ศธ. เร่งสร้างบุคลากรให้พร้อม กล้าผ่า-กล้าทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง


สิ่งเหล่านี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องกล้าผ่าจริง ๆ ต้องคิดใหม่ ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง หากเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ เราไม่จำเป็นต้องไปกำกับตรวจสอบอะไรมากมาย อาจใช้ตัวชี้วัด (KPI) ที่สำคัญและจำเป็นจริง ๆ เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยประเภทจ่ายครบเรียนจบแน่ ประเภทนี้ต้องผ่าตัด และขอให้นำต่างประเทศที่เก่ง ๆ เข้ามาให้มากขึ้น ซึ่งการจัดทำ EEC เป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นที่เราจะบอกไปว่าต้องการคนเก่ง ๆ เหล่านี้เข้ามาใน “พื้นที่” แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะกลายเป็นเด็กที่ได้มาจาก “ทั่วประเทศ” ย้ำด้วยว่าหากวัตถุดิบไม่ดี อย่าหวังจะให้เด็กดี ๆ มาเข้าในพื้นที่ EEC


ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นเราจะตามเวียดนามไม่ทัน ถ้าไม่รีบสร้างบุคลากรให้พร้อม นักลงทุนต่างชาติจะไม่มาที่เรา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ทุกท่านที่จะกล้าทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งดี ๆ ของประเทศไปสู่อนาคต



นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วยว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สั่ง ณ วันที่ 17 มกราคม 2560 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดเพิ่มเติมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมนั้น


กระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนในพื้นที่ดังกล่าว มีการบูรณาการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยใช้การศึกษาทั้งในและนอกระบบ และส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก


โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน ในการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  2) เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ได้บูรณาการแผนการดำเนินงาน ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงและเห็นภาพรวมของการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่  3) เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ข้อมูลจากการประชุมสัมมนาไปวางแผนการดำเนินงาน และสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการจำเป็นของแต่ละพื้นที่


ผู้เข้าประชุมสัมมนารวมทั้งสิ้น 1,000 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและครูจากโรงเรียนในโครงการ ตัวแทนผู้ประกอบการเอกชน ชุมชน และผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในพื้นที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการและผู้รับผิดชอบโครงการจากส่วนกลางด้วย


กิจกรรมในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน และแนวทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบริบท รวมทั้ง การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการแผนจัดการศึกษาให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม วิทยากร ได้แก่ คณะวิทยากรจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก  2) การจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นิทรรศการของกระทรวงศึกษาธิการ และนิทรรศการของแต่ละจังหวัด โดยแสดงภาพการขับเคลื่อนการจัดศึกษาตามวิสัยทัศน์ของแต่ละจังหวัด


อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยการบูรณาการการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชาคมอาเซียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และโครงการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กระทรวงศึกษาธิการได้มีส่วนร่วมและติดตามการดำเนินการของโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป



อนึ่ง ก่อนการประชุมสัมมนาครั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงาน กศน., นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการจากสถานประกอบการ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทราชลบุรี ระยอง รวมทั้งมหาวิทยาลัยบูรพา เกี่ยวกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รวมทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตลอดจนนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยที่สำคัญ คือ เนื้อหาบทเรียนทางธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งวิจัยโดยคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ร่วมกับ สพฐ. และวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น



บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
24/3/2560