รองปลัด​ ศ​ธ.​ “สุทิน” แนะข้าราชการ​รุ่นใหม่​ยึดแนวทางคติพจน์​ลูก​เสือ​ “ทำดีที่สุด-จงเตรียม​พร้อม-มองไกล-บริการ” พัฒนา​ความ​รู้​ไปพร้อม​กับการทำงาน

จังหวัดนครนายก 3 กันยายน​ 2566 / สำนัก​งานปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการ​ (สป.ศธ.) จัดกิจกรรม​เสวนา​ “แลกเปลี่ยน​เรียนรู้​ประสบการณ์​จากพี่สู่​น้อง​” นำโดย​นายสุทิน​ แก้ว​พนา​ รอง​ปลัด​กระทรวง​ศึกษาธิการ,​ นายศัจธร วัฒนะมงคล​ ศึกษาธิการ​ภาค​ 1,​ นางสาวเจริญ​วรรณ​ หนู​นาค​ ผู้​ตรวจราชการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ,​ นายปราโมทย์​ ด้วงอิ่ม​ ผอ.สถาบัน​พัฒนา​ครู​ คณาจารย์​ และ​บุคลากร​ทาง​การศึกษา​ และนางสาว​ญาณิศร์ ศรี​มาวิน​ ผอ.กลุ่ม​อาคาร​สถานที่​และ​ยานพาหนะ​ สอ.สป.​ ในโครงการ​เสริมสร้าง​ความผูกพัน​ของ​บุคลากร​สำนัก​งานปลัด​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ประจำ​ปีงบประมาณ​ พ.ศ.2566​ ณ​ โรงแรมอิงธาร​ รีสอร์ท​ อำเภอ​เมือง​นครนายก

การเสวนาครั้งนี้ มีผู้บริหาร สป.ศธ. เข้าร่วม อาทิ นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ศึกษาธิการภาค/จังหวัด รวมทั้งผู้บริหารและข้าราชการทุกสำนัก/กอง ในสังกัด

นายสุทิน​ แก้ว​พนา​ รอง​ปลัด​ ศธ. กล่าวว่า​ การสร้างบรรยากาศหรือวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นเรื่อง​สำคัญ หากเราทำงานภายใต้บรรยากาศองค์กรที่ดี และเพื่อนร่วมงานที่ดี​ ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรคเราก็จะสามารถขับเคลื่อนงานให้เดินต่อไปได้

โดย​ส่วน​ตัวในฐานะที่ได้มีโอกาสกำกับดูแลงานลูกเสือ ก็ได้ยึดเอาคติพจน์​ของลูกเสือมาใช้ในการทำงาน​ ได้แก่​ ลูกเสือ​สำรอง​ “ทำดีที่สุด”, ลูกเสือ​สามัญ​ “จงเตรียม​พร้อม”, ลูกเสือ​สามัญ​รุ่น​ใหญ่​ “มองไกล” และ​ลูกเสือ​วิสามัญ​ “บริการ” ซึ่ง​คติพจน์ทั้งหมดนี้หากนำมาใช้ในการทำงานจะเป็นประโยชน์อย่างมาก​ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน จะ​ช่วย​ส่งเสริมให้บรรลุถึงความสำเร็จ ตามที่ได้รับมอบหมาย และ​ได้รับความเชื่อถือจากผู้บังคับบัญชา​

รวมถึง​การจะก้าวหน้าเติบโตในชีวิตข้าราชการนั้นการเตรียมพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในเรื่องของความรู้ตามตำแหน่งหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ต้องดูความเชื่อมโยงของงานที่รับผิดชอบว่ามีขอบเขตเท่าใด ต้องเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันการเรียนรู้แบบบูรณาการคือกุญแจ​สำคัญ​ ถ้าเรารู้เพียงสิ่งเดียวเราจะเจอกับปัญหาอุปสรรค มากมาย ขณะที่​ปัจจุบันการเรียนรู้ขวนขวายสามารถทำได้ง่ายแล้ว เราจึงควรมีความรอบรู้ไปพร้อมกับการทำงาน

ส่วน​การมองไกลเป็นการวางเป้าหมายของชีวิตในระยะยาว วางแผนว่าจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง มีวิสัยทัศน์เป็นของตนเอง เป็นการวางเส้นทางเดินชีวิตไปพร้อมกับการวางแผน เพราะผู้ที่จะเดินเข้ามาสู่ตำแหน่งสำคัญได้จะต้องมีความพร้อม ต้องมีความรู้ทักษะความเชี่ยวชาญหลายด้าน และที่สำคัญคือมีประสบการณ์ที่ดี​ ซึ่งเมื่อมีผู้หยิบยื่นโอกาสให้แล้ว เราต้องไขว่คว้า และทำอย่างเต็มความสามารถให้ดีที่สุด

ในขณะที่นายศัจธร วัฒนะมงคล​ ศึกษาธิการ​ภาค​ 1, ​นางสาวเจริญ​วรรณ​ หนู​นาค​ ผู้​ตรวจราชการ​ ศธ.,​ นายปราโมทย์​ ด้วงอิ่ม​ ผอ.สถาบัน​พัฒนา​ครู​ คณาจารย์​ และ​บุคลากร​ทาง​การศึกษา​ และนางสาว​ญาณิศร์ ศรี​มาวิน​ ผอ.กลุ่ม​อาคาร​สถานที่​และ​ยานพาหนะ​ สอ.สป. ได้เล่าถึงประสบการณ์ แนวทาง หลักการทำงานที่ผ่านมาในชีวิตราชการให้แก่ข้าราชการและบุคลากรผู้เข้าร่วมโครงการได้รับทราบ และนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงานราชการให้มีประสิทธิภาพต่อไป

 

หลังการเสวนา คณะผู้เข้าร่วมโครงการได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ อำเภอเมืองนครนายก ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสังกัดกรมศิลปากร แต่เดิมนั้นคือพิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดําริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาพิพิธภัณฑ์มีสภาพทรุดโทรม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) และกรมศิลปากร ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารและการจัดแสดงภายใน

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ใหม่ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์” มีความหมายว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจําจังหวัดนครนายก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พัฒนาการชลประทานของจังหวัด

ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ แบ่งนิทรรศการออกเป็น 4 ส่วน ตามอาคารจัดแสดง 4 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 ปฐมบทการสร้างเขื่อนขุนด่าน อาคาร 2 อดีตชลประทานถึงเขื่อนขุนด่านปราการชล อาคาร 3 พระบารมีปกเกล้าชาวนครนายก อาคาร 4 น้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ

 

กองเผยแพร่​และ​ประชาสัมพันธ์​
สำนักงาน​ปลัด​กระทรวง​ศึกษาธิการ​