รร.สงวนหญิง สุพรรณบุรี คว้าชัยระดับชาติ พลังวิทย์พิชิตยุงลาย


 


          ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้  สสวท. ได้จัดการประกวดนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ Thailand Junior Water Prize 2019  ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนไปร่วมการประกวด Stockholm Junior Water Prize 2019 ระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคมปีนี้  ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
 
 
          ผลปรากฏว่าทีมโรงเรียนที่ชนะเลิศการประกวด Thailand Junior Water Prize 2019  คือ ทีมโรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยผลงานวิจัยเรื่อง ศึกษายับยั้งการทำลายไคตินของเปลือกไข่ยุงลายชนิดรักษ์น้ำแทนการใช้สารเคมี จากทรายอะเบท จากฝีมือของ นางสาวผลิดา ยงพิศาลภพ  หรือ น้องตาล และ นางสาวศุภาพิชญ์ อ้งพันธุ์ หรือน้องฟ้า  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยมี อ.ธัญจิรา ทองมาก เป็นคุณครูที่ปรึกษา
 
 
          งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเพื่อลดสารปนเปื้อนจากการใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุงขณะวางไข่บนน้ำโดยใช้ผลิตภัณฑ์จากพืช ในรูปแบบผงชนิดรักษ์น้ำ โดยทำการศึกษาชนิดและความเข้มข้นของสารสกัดจากพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยเพื่อยับยั้งการทำลาย ไคตินของเปลือกไข่ยุงลาย
 
 
          นางสาวผลิดา ยงพิศาลภพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ตัวแทน โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี เผยว่าผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือเรื่อง ศึกษายับยั้งการทำลายไคติน ของเปลือกไข่ยุงลายชนิดรักษ์น้ำแทนการใช้สารเคมีจากทรายอะเบท  เหตุผลที่ทีมเราเลือกทำโครงงานนี้เพราะปัจจุบันเราเห็นว่าทรายอะเบทใช้กันอย่างแพร่หลาย และส่วนมากไม่ได้มีการคำนึงถึงสารตกค้าง หรือว่าสารปนเปื้อนในน้ำ แม้ว่าจากการที่ศึกษามาแล้วพบว่าสารเคมีในทรายอะเบทมีน้อย และส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมรวมทั้งคนด้วยน้อย แต่ในระยะยาวไม่มีใครทราบว่าทรายอะเบทจะไปก่อสารพิษหรือผลกระทบในร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเราจึงต้องการที่นำสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลดีทั้งต่อสภาพแวดล้อม และต่อตัวเรา นำมาพัฒนาและยับยั้งการทำลายไคตินของ  เปลือกไข่ยุงลายเพื่อไม่ให้ยุงลายได้ฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อน และสามารถนำไปอนุรักษ์น้ำได้  คือไปลดค่าสารเคมีในน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นได้
 
        
          ส่วนนางสาวศุภาพิชญ์ อ้งพันธุ์ เล่าถึงแนวทางการต่อยอดผลงานชิ้นนี้ซึ่งยังอยู่ในรูปแบบของผงว่าอาจจะใช้ยากไม่สะดวกต่อการใช้งานมากนัก  หากนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงผลงานดังกล่าว อยากจะทำให้บรรจุภัณฑ์ใช้ได้ง่าย ตอนนี้ที่ในส่วนของความคิดคือ จะพัฒนาเป็นคล้ายถุงบรรจุชาเพราะโดยปกติเวลาเราดื่มชาก็จะนำถุงชาไปหย่อนในน้ำร้อน เมื่อได้สีชาตามที่ต้องการจึงยกถุงชาขึ้น  อาจทำแบบเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์เป็นแพคเกจ  ใส่ผงยับยั้ง สามารถนำไปใส่ในน้ำเมื่อถึงตามเวลาที่กำหนดและเก็บรักษาง่ายอีกด้วย



ที่มา : ข่าวการศึกษาบ้านเมือง