“รมว.ตรีนุช” ออกประกาศคุรุสภาฉบับใหม่ เผยยังคงความสำคัญวิชาเอก

“รมว.ตรีนุช” ออกประกาศคุรุสภาฉบับใหม่ เผยยังคงความสำคัญวิชาเอก

 width=

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา (คส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ตามที่ คส.ได้เสนอมา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คส.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ แก้ไขให้นิยามคำว่า “ปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หมายความว่า คุณวุฒิปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ปริญญาโท และปริญญาเอกทางการศึกษา หรือเทียบเท่า ที่คุรุสภารับรอง และปริญญาทางการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่ผ่านการเทียบคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐ “

นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขให้มีคณะอนุกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดย คส.จำนวนไม่เกิน 15 คน ทำหน้าที่กำหนดแนวทาง และรายละเอียดของหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู, กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ เป็นต้น

ซึ่งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ประธานอนุกรรมการ ที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา, อนุกรรมการ โดยตำแหน่ง 3 คน ประกอบด้วย ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, อนุกรรมการ จากผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ซึ่งมีคุณวุฒิ และมีตำแหน่งทางวิชาการ ผลงานทางวิชาการ และ/หรือ ประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน ได้แก่ การจัดการศึกษาในระดับปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่าการวัดและประเมินผล การบริหารจัดการทดสอบและการประเมิน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่างน้อย 1 คน, มีเลขาธิการคุรุสภา หรือรองเลขาธิการคุรุสภาที่ได้รับมอบหมายเป็นอนุกรรมการ และมีเลขานุการพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาที่เลขาธิการคุรุสภามอบหมาย 1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะอนุกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี

“ในประกาศฉบับใหม่ ในข้อ 7 สมรรถนะทางวิชาชีพครู ประกอบด้วย (ก) ความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ได้แก่ 1.วิชาชีพครู 2.วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 3.วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 4. วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 5.วิชาเอก ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด (ข)

การปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ได้แก่ 1.การจัดการเรียนรู้ 2.ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน 3.การปฏิบัติหน้าที่ครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยรายละเอียดของสมรรถนะทางวิชาชีพครู ให้เป็นไปตามข้อบังคับคุรุสภา ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการเกณฑ์การตัดสินการทดสอบและประเมินตามข้อ 7 แต่ละวิชาต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยให้คำนึงถึงค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของการวัดประกอบการพิจารณาด้วย หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคุรุสภายังคงให้ความสำคัญกับวิชาเอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะทางวิชาชีพครู

ส่วนในข้อ 12 ของประกาศฉบับนี้ ให้มีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามข้อ 7 (ก) เมื่อคุรุสภาปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาให้เชื่อมโยงกับวิชาเอกที่จะดำเนินการทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ภายใน 2 ปี

และในข้อ 13 ยังระบุให้ผู้เข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 1/2564 ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ.2563 ได้รับการยกเว้นการใช้ผลการทดสอบและประเมินสมรรถะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพในวิชาเอก เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย ซึ่งประกาศฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
17/11/2564