รมช.ศธ.(กนกวรรณ) หารือหลักสูตรขนส่งทางราง








รมช.ศธ.(กนกวรรณ วิลาวัลย์) หารือความร่วมมือหลักสูตรขนส่งทางราง
 src= 

คณะผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน 4 แห่ง เข้าคารวะเพื่อแสดงความยินดีกับนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาในการผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New-S Curve ในโครงการความร่วมมือหลักสูตรขนส่งทางราง อาชีวศึกษา (ทวิวุฒิ) เรียนจบรับวุฒิ 2 ประเทศ ระหว่างสถาบัน Liuzhou Railway Vocational and Technical College ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.30 น. ณ ประชุมห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ


โครงการความร่วมมือหลักสูตรขนส่งทางราง อาชีวศึกษา (ทวิวุฒิ) ระหว่างสถาบัน LIUZHOU RAIWAY VOCATIONAL TECHNICAL COLLEGE สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี และวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558 ใน 2 สาขา คือ สาขางานเทคนิคเครื่องกลระบบขนส่งทางราง และ สาขางานบำรุงรักษาระบบไฟในระบบขนส่งทางรางระบบทวิวุฒิ (ทวิภาคี) นักศึกษาเรียนจบได้วุฒิระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 ใบ เรียนในประเทศไทย 1 ปี และเรียนพร้อมฝึกงานที่ Liuzhou Railway Vocational and Technical College สาธารณรัฐประชาชนจีน 1.5 ปี โดยมีกำหนดจบการศึกษา ดังนี้


รุ่นที่ 1 จำนวน 28 คน ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ Liuzhou Railway Vocational and Technical College ระดับปวส.2 และจะจบการศึกษาในตุลาคม 2562


รุ่นที่ 2 จำนวน 47 คน เข้าเรียนภาษาจีนที่ กุ้ยหลิง วันที่ 4 ธันวาคม 2561 จำนวน 3 เดือน และจะเข้าเรียนที่ Liuzhou Railway Vocational and Technical College วันที่ 1 มีนาคม 2562


รุ่นที่ 3 วิทยาลัยทั้ง 4 แห่งจะเปิดรับนักศึกษาทั้งหมดจำนวน 90 คน ใน 3 สาขา ดังนี้
1. Railway signal auto control จำนวน 30 คน
2. Railway engineering technology จำนวน 30 คน
3. การจัดการบนสถานีรถไฟ จำนวน 30 คน


ในการหารือเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้



  • ขอการสนับสนุนและส่งเสริมจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมฯ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการด้านระบบขนส่งทางราง กับผู้บริหารทั้ง 4 วิทยาลัย เพื่อจับคู่ทางการศึกษาในการวางแผนผลิตบุคลากรและเตรียมงานรองรับนักศึกษาระบบขนส่งทางรางที่จะจบการศึกษาในปี 2562
  • ขอการสนับสนุนงบประมาณ ด้านการเรียนและอบรมภาษาจีนให้กับนักศึกษา ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาพิจารณาอนุมัติให้ทั้ง 4 วิทยาลัย ได้เข้าร่วมโครงการอาชีวะพรีเมียม ทั้ง 5 สาขาวิชา ประกอบด้วย 1. สาขาช่างอากาศยาน 2. สาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง 3. สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ 4. สาขาการจัดการโลจิสติกส์ 5. สาขาการท่องเที่ยว และโรงแรม และอนุมัติให้ทั้ง 4 วิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตร สาขายานยนต์ไฟฟ้า และสาขาการจัดการบนสถานีรถไฟ
  • การส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 5 สาขาวิชา
  • ขอรับการสนับสนุนด้านครุภัณฑ์และสื่อการเรียนการสอน

ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมและพร้อมสนับสนุนการจัดการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเยาวชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือร่วมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการผลักดันให้การศึกษาก้าวไปข้างหน้าและสามารถแข่งขันได้ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และยกระดับศักยภาพของแรงงานไทยอย่างแท้จริงต่อไป

 src=
 src=
 src=
 src=
 src=
 src=
 src=
 src=
Top