รมช.ศธ.‘ดร.คุณหญิงกัลยา’แถลงผลงานในรอบ2เดือน เล็งส่งเสริมการเรียนประวัติศาสตร์ผ่านสื่อร่วมสมัยปลูกฝังเยาวชนไทยมีจิตอาสาเพื่อสังคม(21 ต.ค. 62) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลงานในรอบ 2 เดือน ผ่านรายการ “@จันทรเกษม” ทาง Facebook Live จากบริเวณสนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ รมช. ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการตามนโยบายใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ การพัฒนาการสอนและการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (โค้ดดิ้ง) และอาชีวะเกษตรสร้างชาติ (Smart Farming 47 Aggie by STI) ซึ่งสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลในกลุ่มสถานศึกษานำร่องได้อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระยะต่อไป จะผลักดันนโยบาย “อ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ และสื่อสารด้วยภาษาร่วมสมัยกับ Gen Z” โดยจะหาวิธีการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามคุณธรรมหน้าที่พลเมืองให้มีความสนุก เน้นให้ซึมซับกับเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่การสอนโดยตรง ซึ่งอาจใช้ภาษาวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ เช่น การร้องเพลงแร็พ เพลงหมอลำ การโต้วาที การละเล่นที่น่าสนใจ เป็นต้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำความคิดดี ๆ เหล่านี้ผ่านไปให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับฟัง ได้ยิน ได้เห็นคุณงามความดี อันเป็นต้นทุนของประเทศไทย มีความภาคภูมิใจในการเกิดมาเป็นคนไทยควบคู่กับการเรียนโค้ดดิ้งที่ทันสมัย คาดว่าอีกไม่เกินสองเดือนจะมีคลิปที่สื่อสารแบบร่วมสมัย หรือกิจกรรมที่น่าสนใจออกมาให้ได้ติดตามกันต่อไป ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นปลูกฝังเรื่อง จิตอาสา ให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งขณะนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาอยู่แล้ว เช่น พานักศึกษาไปช่วยลอกคลอง ช่วยทาสีสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้นักเรียนนักศึกษามีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักการให้ การแบ่งปัน มากกว่าการเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว สรุปผลการดำเนินงาน : รมช.ศึกษาธิการ มีนโยบายขับเคลื่อนการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) ในโรงเรียนทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งพัฒนานักเรียนไทยให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล โดยได้วางแผนปฏิบัติการขยายการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ดังนี้
สรุปผลการดำเนินงาน : ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ 47 แห่ง ได้รับมอบนโยบายสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 พร้อมมุ่งยกระดับสมรรถนะ (Up Skill) ให้กับเกษตรกรไทยทั้งประเทศกว่า 20 ล้านคน ด้วยการจัดการศึกษาตามความเชี่ยวชาญ จุดเด่นของแต่ละวิทยาลัย มีฟาร์มที่ทันสมัย (Smart Farming) เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรได้จริง ตอบสนองต่อภาคเกษตรกรรมในเชิงพื้นที่ที่ให้บริการ สอนอาชีพด้วยครูมืออาชีพโดยใช้วิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T )และนวัตกรรม (I) ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน โดยได้เปิดตัวนโยบาย Smart Farming 47 Aggie by STI เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้วิทยาลัยทั้ง 47 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีอันตราย คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งถือเป็นหน่วยงานราชการแรกของประเทศที่เดินหน้าอย่างเป็นทางการเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีของเกษตรกร ตลอดจนเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยไปถึงโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ตามนโยบาย “อิ่มสุขมื้อเที่ยง” นำร่องระหว่างวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา กับ สพป.นครราชสีมา เขต 4 โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทำหน้าที่ผลิตวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารปลอดภัย ขณะที่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดทำหน้าที่ประกอบอาหารตามหลักโภชนาการ ขณะเดียวกันวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาสาระที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรควบคู่กันไปด้วย รมช.ศึกษาธิการ ได้นำร่องนโยบายการบริหารจัดการน้ำชุมชน ด้านการฝึกอบรม “ชลกร” ที่หมู่บ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยจัดอบรมให้กับครูอาจารย์และนักเรียนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 10 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 100 คน เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงทั้งใน 10 วิทยาลัย และขยายผลการปฏิบัติจริงในชุมชน หมู่บ้านใกล้เคียงรอบวิทยาลัย โดยระยะต่อไปจะทำการฝึกอบรมชลกรให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ในส่วนของนโยบาย “สวนป่าเงินล้าน” ได้มอบหมายให้วิทยาลัยทั้ง 47 แห่ง ดำเนินการปลูกสวนป่าในพื้นที่ของวิทยาลัย และถ่ายทอดความรู้จัดทำเนื้อหาวิชาเรื่องการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนและชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการออม การสร้างรายได้ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศชาติโดยรวม ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป |
ข่าว ศธ. 360 องศา