(21 ต.ค. 62) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลงานในรอบ 2 เดือน ผ่านรายการ “@จันทรเกษม” ทาง Facebook Live จากบริเวณสนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ
รมช. ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการตามนโยบายใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ การพัฒนาการสอนและการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (โค้ดดิ้ง) และอาชีวะเกษตรสร้างชาติ (Smart Farming 47 Aggie by STI) ซึ่งสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลในกลุ่มสถานศึกษานำร่องได้อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ในระยะต่อไป จะผลักดันนโยบาย “อ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ และสื่อสารด้วยภาษาร่วมสมัยกับ Gen Z” โดยจะหาวิธีการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามคุณธรรมหน้าที่พลเมืองให้มีความสนุก เน้นให้ซึมซับกับเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่การสอนโดยตรง ซึ่งอาจใช้ภาษาวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ เช่น การร้องเพลงแร็พ เพลงหมอลำ การโต้วาที การละเล่นที่น่าสนใจ เป็นต้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำความคิดดี ๆ เหล่านี้ผ่านไปให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับฟัง ได้ยิน ได้เห็นคุณงามความดี อันเป็นต้นทุนของประเทศไทย มีความภาคภูมิใจในการเกิดมาเป็นคนไทยควบคู่กับการเรียนโค้ดดิ้งที่ทันสมัย คาดว่าอีกไม่เกินสองเดือนจะมีคลิปที่สื่อสารแบบร่วมสมัย หรือกิจกรรมที่น่าสนใจออกมาให้ได้ติดตามกันต่อไป
ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นปลูกฝังเรื่อง จิตอาสา ให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งขณะนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาอยู่แล้ว เช่น พานักศึกษาไปช่วยลอกคลอง ช่วยทาสีสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้นักเรียนนักศึกษามีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักการให้ การแบ่งปัน มากกว่าการเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว
สรุปผลการดำเนินงาน :
นโยบายพัฒนาการสอนและการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (โค้ดดิ้ง)
รมช.ศึกษาธิการ มีนโยบายขับเคลื่อนการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) ในโรงเรียนทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งพัฒนานักเรียนไทยให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล โดยได้วางแผนปฏิบัติการขยายการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ดังนี้
1. ดำเนินงานเรื่องการจัดทำสื่อ เกี่ยวกับความสำคัญ วัตถุประสงค์ เนื้อหา และรูปแบบการจัดการเรียนโค้ดดิ้ง เพื่อสื่อสารกับนักเรียนผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ในสื่อออนไลน์
2. พัฒนาครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง กับการจัดการเรียนโค้ดดิ้ง ทั้งในและนอกระบบ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง หรือหลักสูตร Coding for Teacher (C4T) ให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนวิทยาการคำนวณจำนวน 1,050 คน จาก 350 โรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้บริหารและครูให้มีความเข้าใจในมาตรฐานและหลักสูตรและตัวชี้วัดวิชาวิทยาการคำนวณ รวมถึงสามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเป็นโรงเรียนนำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนรู้ได้ต่อไป นอกจากนี้ สพฐ. และ สสวท. ได้ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิทยากรแกนนำวิชาวิทยาการคำนวณจำนวน 150 คน เพื่ออบรมและคัดเลือกครูที่เข้าใจเนื้อหาและสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ครูคนอื่นได้ และคัดเลือกวิทยากรแกนนำอีก 150 คน เพื่อร่วมเป็นวิทยากรในการขยายผลหลักสูตร 4 ปีให้แก่เพื่อนครูในเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ทั้งนี้ในปี 2563 ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาครูด้านวิทยาการคำนวณรวมทั้งสิ้น 25,000 คน
3. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู เช่น สสวท. สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมถึงมหาวิทยาลัย ในการจัดระบบรับรองคุณภาพครูที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ทั้งผู้บริหารโรงเรียนครูและศึกษานิเทศก์
4. วางแผนการสร้าง Platform เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครูและหน่วยงานต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเครื่องมือ สื่อ และบทเรียนเกี่ยวกับวิทยาการคำนวณร่วมกัน
สรุปผลการดำเนินงาน :
นโยบายอาชีวะเกษตรสร้างชาติ (Smart Farming 47 Aggie by STI)
ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ 47 แห่ง ได้รับมอบนโยบายสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 พร้อมมุ่งยกระดับสมรรถนะ (Up Skill) ให้กับเกษตรกรไทยทั้งประเทศกว่า 20 ล้านคน ด้วยการจัดการศึกษาตามความเชี่ยวชาญ จุดเด่นของแต่ละวิทยาลัย มีฟาร์มที่ทันสมัย (Smart Farming) เป็นตัวอย่างให้กับเกษตร
ที่มา : ศธ. 360 องศา