คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงานแถลงข่าว ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา รวมพลังฟื้นฟูประเทศไทย โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ
โดยรัฐมนตรีทั้งสามท่าน ได้บริจาคเงินเดือน เพื่อช่วยเหลือ 3 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากกว่า 1,612 คน ที่ศึกษาและอาศัยอยู่ใน 14 โรงเรียนพักนอนในพื้นที่ยากลำบากที่สุดในประเทศไทย 2. เด็กกำพร้าที่สูญเสียผู้ปกครองจาก COVID-19 จำนวน 399 คน ให้ได้ศึกษาต่อไปในระบบการศึกษา และ 3. เด็กพิการจำนวน 103 คน ในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังฟื้นตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กและเยาวชน อนาคตของชาติหลายล้านคน รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการบรรเทา ป้องกัน หรือฟื้นฟูที่เข้มข้นเพียงพอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะสูงขึ้น หรือมีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 10.8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน ต้องทำให้เกิดการปฏิรูประบบได้อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญ คือ การพัฒนางานร่วมกับ กสศ. ริเริ่มระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคน ได้เรียนต่ออย่างเต็มศักยภาพ ไม่หลุดออกนอกระบบ โดยมีตัวอย่างมาตรการสำคัญ คือ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้เกิดผลลัพธ์มุ่งตรงกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด 15% ของประเทศ โดยในภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. จำนวน 1,208,367 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และยังมีมาตรการพิเศษ เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ (อนุบาล 3, ป.6, ม.3) ในสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น จำนวน 294,454 คน ศธ. และ กสศ. ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อดูแลและส่งต่อนักเรียน ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงระบบดูแล เฝ้าระวัง และส่งต่อเด็กวัยเรียนในครัวเรือนยากจน และด้อยโอกาสให้คงอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งจะดำเนินการครบวงจรครอบคลุมทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565
คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะมีนโยบายเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเยาวชนและครอบครัวไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่เด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองไปเพราะโควิด-19 เด็กกลุ่มนี้จึงต้องถูกให้ความสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากสังคม แม้เงินเดือนสามเดือนของรัฐมนตรีจะเป็นเงินไม่มากนัก แต่แสดงถึงความตั้งใจของเราทั้งสาม โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เชิญชวนร่วมสละเงินเดือนเพื่อร่วมกับ กสศ. ในการช่วยเหลือเยาวชนที่ต้องการจริงๆ ทั้งนี้ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและสังคมจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งยวดในการให้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของเด็กต่อไป
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนงานที่ครูโอ๊ะกำกับดูแลโดยตรง คือ กศน. ซึ่งมีงานที่เกี่ยวกับกลุ่มที่ต้องการที่จะได้รับโอกาสเป็นพิเศษ จึงได้สมทบเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน มอบให้กับ กสศ.เพื่อเติมพลัง และช่วยเหลือกลุ่มเด็กพิการและออทิสติก ที่มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นจำนวน 103 คน
สำหรับกลุ่มเด็กพิการและออทิสติก ที่ได้รับมอบเงินเดือนของรัฐมนตรีนั้น เกิดจากการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ได้จัดการศึกษาทำให้เราได้เห็นถึงสภาพปัญหาความเป็นจริง และความต้องการที่จำเป็นอย่างแท้จริง ทั้งนี้สิ่งที่ครูโอ๊ะได้ตั้งใจร่วมกับรัฐมนตรีเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเล็งไปที่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังอยากให้เป็นขวัญกำลังใจเพื่อเติมเต็มศักยภาพและแรงใจ รวมทั้งทำให้ครอบครัวของเด็กและเยาวชนได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น พ้นจากความยากลำบากที่ต้องเผชิญ
ซึ่งเชื่อมั่นว่าเด็ก ๆ และครอบครัวที่ได้รับเงินในครั้งนี้จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น จากความห่วงใยของพวกเรา เพราะเด็กและเยาวชน คือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ขอเชิญชวนเราทุกคนมาร่วมกันสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยไปด้วยกัน
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/รายงาน
สถาพร ถาวรสุข, ทิพสุดา ศรีสะแก้ว, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
29/10/2564