เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 08.30 น.นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน พร้อมมอบนโยบายการจัดการศึกษา ณ โรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายสมสันต์ ลือกำลัง ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี นายชวลิต จงเจริญชัยสกุล ประธานกรรมการดำเนินงาน มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดเพชรบุรี นายชนกภัทราณัฐ ข้าวหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เจ้าหน้าที่ บุคลากร และนักเรียน ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมในหัวใจของความเสียสละของบุคลากรทุกคน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะครู ที่สอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตา ที่ต้องใช้ทั้งความตั้งใจ ใส่ใจ และมีความรักในอาชีพอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้น ขอชื่นชมหัวใจของครูที่มีความบกพร่องทางตา ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ในการเพิ่มทักษะความรู้ ความสามารถให้กับนักเรียน ได้อย่างเข้าใจและตรงจุดที่สุด เพื่อให้นำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อไป ทั้งยังร่วมกับเครือข่ายการทำงานที่มีเมตตา โดยเฉพาะ ประธานมูลนิธิฯ ที่ได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง
ในนามของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ต้องขอขอบคุณและชื่นชมโรงเรียนการศึกษาเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนชะอำ ที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และได้ดำเนินงานจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสะท้อนประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีจะรับไปแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
“ตั้งแต่รับตำแหน่ง ก็ทีความตั้งใจที่จะพัฒนาปรับปรุงการส่งเสริมสนับสุนงานการศึกษาเอกชน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับชาวเอกชน อาทิ เพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจาก 100,000 บาท เป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน ของประเทศ จึงปรับรูปแบบการทำงานโดยลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและรับฟังปัญหา เพื่อนำสู่การแก้ไขได้อย่างตรงจุด พร้อมวางโครงสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ หรือรุนแรงไปกว่าเดิม
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาจะรับไปเพื่อหาแนวทางแก้ไข ทั้งในเรื่องเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้พิการพิการซ้ำซ้อนให้เข้าถึงการศึกษา ได้รับการดูแลที่ดีอย่างแท้จริง, การปรับกฎหมาย เพื่อทำให้บทบัญญัติของกฎหมายเกิดผลในทางปฏิบัติจริง ๆ, การเดินทางไปเรียนในโรงเรียนจัดการเรียนร่วมของนักเรียนพิการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารถ ตลอดจนการขาดแคลนครู งบประมาณ การเพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนให้กับครูผู้พิการที่มาสอนคนพิการ รวมทั้งงบประมาณในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการทางสายตา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเรียนปกติถึง 5 เท่า เป็นต้น
และต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบ ทำให้ผู้ที่มาสนับสนุนบริจาคไม่สามารถที่จะทำได้ และภาวะเศรษฐกิจแบบนี้รายได้ลดลงส่งผลทำให้การจัดการศึกษาด้วยเช่นกัน แต่ก็ถือเป็นความโชคดีของที่นี่ ที่อาศัยพึ่งพิงจากผู้ใจบุญ มาร่วมขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนและบูรณาการการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการในทุกส่วน เพื่อที่จะไปขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาและที่สำคัญคือการป้องกันปัญหาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มากที่สุด
อย่างไร ก็ตามการทำงานที่ผ่านมาของครูพี่โอ๊ะ มีความตั้งใจพัฒนาการทำงาน ทลายข้อจำกัดต่าง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งสิ่งใดแก้ไขหรือผลักดันได้ก่อน ก็จะเร่งดำเนินการทันที เพราะกังวลและห่วงใยว่า หากเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะกับผู้พิการ อาจทำให้เกิดการพิการซ้ำซ้อนขึ้นได้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน, สถาพร ถาวรสุข : ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
30/11/2563