รมช.กนกวรรณ ลงพื้นที่แหล่งปลูกสาคูตำบลพิเทน มอบ กศน.ส่งเสริมองค์ความรู้ควบคู่กฎหมาย ผลักดันสู่อาชีพปลูก-แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุ่งยางแดง

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ลงพื้นที่แหล่งปลูกต้นสาคู ที่ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมการปลูกและแปรรูปต้นสาคูอย่างครบวงจร พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมและนิทรรศการด้านอาชีพของนักศึกษา กศน.อำเภอเมืองพัทลุง และ กศน.อำเภอทุ่งยางแดง ตลอดจนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการความรู้ในศตวรรษที่ 21 ณ กศน.อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี โดยมีนายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน. นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอทุ่งยางแดง นายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ร่วมต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการกล่าวรายงาน ทำให้เห็นถึงความพยายาม และความเอาใจใส่ในการนำนโยบายพัฒนาหลักสูตรอาชีพของ กศน.ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ สู่การส่งเสริมประชาชนโดย กศน. ทั้งเชิงความรู้ ทักษะอาชีพของคนในชุมชนตามบริบทในพื้นที่ และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง กศน.อำเภอทุ่งยางแดง สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี, สำนักงาน กศน.จังหวัดพัทลุง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาพรุโต๊ะแดง ตลอดจนภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้ประโยชน์ การออกแบบหีบห่อ ไปจนถึงช่องทางการจำหน่าย ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านกฎหมาย การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างถูกต้อง
 
“เป็นการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นครั้งที่ 2 เพื่อมาช่วยให้ กศน.เสริมเติมเต็มการส่งเสริมอาชีพปลูกและแปรรูปต้นสาคู ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนชาวทุ่งยางแดง และพื้นที่ปลูกอื่น ๆ คู่ขนานไปกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างถูกกฎหมาย โดยมอบให้ กศน.วางแนวทางส่งเสริมอย่างมีทิศทาง มีความสมดุล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างเหมาะสม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่บุกรุกพื้นที่ป่า โดยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับระเบียบและกฎหมายอย่างถูกต้องควบคู่ไปด้วย
 
โดยผลิตภัณฑ์จาก “ต้นสาคู” จะเป็นอีกเป้าหมายของการส่งเสริมอาชีพปลูกและแปรรูปต้นสาคู สู่การยกระดับมูลค่าเพิ่ม สร้างงานและรายได้แก่พื้นที่ปลูกในตำบลพิเทนอย่างครบวงจร และคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นสาคู สู่สินค้าฮาลาลที่มีมาตรฐานได้ในอนาคต
 
ขอแสดงความขอบคุณเครือข่ายสำนักงาน กศน.ปัตตานี ที่มาร่วมจัดนิทรรศการผลงานหลักสูตรอาชีพ การปลูกและแปรรูปต้นสาคู ตลอดจนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการความรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น กศน.อำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกต้นสาคู พร้อมจัดหลักสูตรอาชีพแปรรูปต้นสาคูแก่ประชาชนพัทลุงได้เป็นอย่างดี การแปรรูปและใช้ประโยชน์ต้นสาคูของ กศน.อำเภอทุ่งยางแดง โดยยอดสาคูใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร ใบสาคูสำหรับมุงหลังคา และห่อขนมพื้นบ้าน แป้งจากต้นสาคู แปรรูปเป็นขนม, การพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson study) วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ของโรงเรียนสามัคคีธรรมวิทยาเป็นกิจกรรมการเรียนที่มีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อฝึกนักเรียนให้กล้าคิด กล้าแสดงออก แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และช่วยพัฒนาวิชาชีพครู ตลอดจนการแกะสลักผักและผลไม้ โรงเรียนบ้านน้ำดำ ดีกรีรางวัลเหรียญทอง ศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภาคใต้ และโครงการสืบสานอนุรักษ์ภาษาถิ่นพิเทน ของโรงเรียนบ้านพิเทน (วันครู 2502)” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
 
นายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี กล่าวรายงานว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี ได้กำหนดสโลแกนร่วมกันว่า กศน.ปัตตานี มีมาตรฐาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนาประชาชน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถยกระดับการศึกษา นำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีอย่างแท้จริง
 
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาต่อเนื่อง การพัฒนัาอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของประชาชนในพื้นที่ เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยความร่วมมือจากสำนักงาน กศน.จังหวัดพัทลุง และศูนย์วิจัยและพัฒนาพรุโต๊ะแดง ในการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากต้นสาคู เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มองเห็นช่องทางการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
 
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
16/8/2563