คณะนักร้องประสานเสียงมหาวิทยาลัยมหิดล (MU Choir) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 ในสมัยที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วัตถุประสงค์เพื่อการเฉลิมฉลองในปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 และได้ร่วมแข่งขันในรายการระดับนานาชาติมากมาย โดยรายการล่าสุด แข่งขัน ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2562 ในงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ 1.เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Voices – Senior Youth และ 2.เหรียญเงินจากการแข่งขันประเภท S Sacred / Church Choir
สมาชิก MU Choir เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีใจรักในการร้องเพลง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฯลฯ
ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการอำนวยเพลงด้านการขับร้องประสานเสียง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเพลงคณะนักร้องประสานเสียง MU Choir กล่าวว่า “MU Choir เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เราต้องการจะเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไปยังนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเอกดนตรี เพื่อให้เสียงเพลงเข้าไปสู่จิตใจ ให้นักศึกษาได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน “การร้องเพลง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พัฒนาสุขภาพองค์รวมได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งการร้องเพลงที่ดีนั้นนอกจากจะต้องใช้ทั้งตัว กล้ามเนื้อทุกส่วนต้องทำงานด้วยกันแล้ว ยังได้ฝึกการหายใจ โดยงานวิจัยบอกว่า การร้องเพลงประสานเสียงนั้นเหมือนกับการเล่นโยคะ โดยมีหลักการควบคุมลมหายใจที่คล้ายกัน และให้ผลใกล้เคียงกัน”
ในทุกปี MU Choir จะคัดเลือก (Audition) นักศึกษาให้เข้ามาร่วมวง จากการแสดงความสามารถด้านการขับร้องและการทดสอบโสตประสาท พร้อมทั้งความสามารถในการเลื่อนบันไดเสียงขึ้นลง เพื่อทดสอบช่วงเสียงและคุณภาพเสียง และการสอบสัมภาษณ์ โดยการฝึกซ้อมมีขึ้นทุกวันพุธเวลา 17.00 – 20.00 น. การที่เราสามารถทำให้ดนตรีแพร่กระจายออกไปในกลุ่มคนที่ไม่ใช่เด็กดนตรี และผลักดันพวกเขาเหล่านี้สู่ระดับนานาชาติ คว้ารางวัลในระดับโลกได้ ถือว่าได้ทำให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งในการแข่งขันกีฬามีปลายทางที่โอลิมปิก แต่ในการแข่งขันขับร้องเพลงประสานเสียง แม้เรายังไม่ถึงตรงนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ที่มา : บ้านเมือง/การศึกษา