ผศ.ดร.ศศิธร พุมดวง อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจาก มอ.สงขลา ประเภทพัฒนานักวิจัยประจำปี 2548 วิจัยเรื่อง “ผลการใช้ท่า PSU cat และดนตรีต่อความก้าวหน้าของการคลอดและการลดปวด” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน Thai Journal Nursing of Researh vol 11 No.2 April-June 2007
“การจัดท่านอนให้ผู้ป่วยที่เริ่มเจ็บท้องคลอด โดยผนวกท่านอนของแมวกับแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นท่า PSU cat หรือท่าแมวนอนปรับยกหัวเตียงสูงขึ้น 45 องศา และใช้หมอนรองให้ผู้ป่วยทิ้งน้ำหนักของใบหน้าและลำตัวส่วนบนด้านหน้าลงบนหมอ นตามสบายแทนการใช้มือทั้งสองของผู้ป่วยยันกับพื้นเพื่อรับน้ำหนักตัว ส่วนเข่าทั้ง 2 ข้างยันพื้น เข่าแยกห่างกันตามที่ผู้ป่วยรู้สึกสบายเพื่อรับน้ำหนักบริเวณสะโพก หลัง หรือลำตัวอยู่ในแนวเกือบขนานกับเตียง โดยลำตัวส่วนบนสูงกว่าบริเวณก้นเล็กน้อย เมื่อมดลูกหดรัดตัวผู้ป่วยสามารถหายใจเข้า และโก่งลำตัวขึ้นสูงเพื่อลดการกดของกล้ามเนื้อหน้าท้องต่อมดลูกและหายใจออกพ ร้อมกับหย่อนหลังอยู่ในแนวเดิม คือ ขนานและส่วนบนลำตัวสูงกว่าบริเวณอุ้งเชิงกรานเล็กน้อย” ผศ.ดร.ศศิธรกล่าว และว่า ท่าดังกล่าวช่วยให้ลดเวลาในระยะก้าวหน้าของการคลอดได้เหลือเพียง 3 ชั่วโมง จากค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป 7.8 ชั่วโมง แต่วิธีนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อเด็กเริ่มกลับหัว ปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร เพราะอาจจะทำให้สายสะดือพัดต่ำและมีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
ผศ.ดร.ศศิธรกล่าวว่า นวัตกรรมนี้เป็นครั้งแรกของไทยและของโลก ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งใน จ.สงขลา ได้นำวิธีนี้ไปใช้กับผู้ป่วยรอคลอดจำนวนมาก และได้ผลดีอย่างมาก เพราะนอกจากสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดคลอดได้เร็วแล้ว ยังสามารถลดภาวะความเป็นกรดในเลือด มีมูกเลือดออกมาน้อย เลือดออกน้อย ลดการใช้เครื่องมือ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และลดระยะเวลาในการรอของสูตินรีแพทย์ ผู้สนใจสอบถามได้ที่หมายเลข 0-7428-2000 (กรอบบ่าย)
แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ศธ. |