มอบนโยบายการศึกษาเอกชน ที่ปัตตานี

จังหวัดปัตตานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2559 เพื่อพบปะและมอบนโยบายในการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนในระบบ ครูสามัญ/ครูศาสนา โต๊ะครู/ผู้ช่วยโต๊ะครู ผู้บริหารโรงเรียนนอกระบบ ผู้สอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ตลอดจนข้าราชการ และบุคลากรในจังหวัดปัตตานี และสงขลา (อ.จะนะ และ อ.นาทวี) เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,300 คน โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุปดังนี้



– เผยถึงความจำเป็นของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ


รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาคนจนไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ และการที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วยนั้น กระทรวงศึกษาธิการถือว่าเป็นการช่วยเหลือรัฐ หรือแบ่งเบาภาระของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก


ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องมาร่วมกันจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามความต้องการของคนในพื้นที่ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น และตามหลักศาสนา ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดการออกกลางคันของนักเรียน การใช้งบประมาณ และทรัพยากรที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะเดียวกัน รัฐหรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถจัดการการศึกษาได้อย่างคล่องตัว ต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน


ความสำเร็จหรือการดำเนินการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ จากผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงตามความต้องการของพวกเรา คือ การร่วมกันพัฒนาการศึกษาเอกชนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งผลจากการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำไปกำหนดเป็นนโยบาย และโครงการ หรือกิจกรรมในแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป


– ความจำเป็นของไทยที่ต้องเร่งรัดพัฒนาตามตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี


ปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และค่อนข้างต่อเนื่อง อาทิ โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจาก “การเกษตรแบบพึ่งตนเอง” เป็น “พึ่งพาอุตสาหกรรมและการส่งออก” ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากร ภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น ยาเสพติดข้ามชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง การก่อความไม่สงบ โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัล สังคมผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น เป็นต้น


ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเร่งรัดพัฒนาในเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี (พ.ศ.25602579) ซึ่งมีกรอบวิสัยทัศน์ คือ “ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่” เพื่อมุ่งเน้นคนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้รวมถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการที่จะได้มาจะต้องมีสิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพสูงสุดด้วย “การปฏิรูปและพัฒนาการศึกษา”


จากสภาวะแวดล้อมและความมุ่งหวังในวันข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี จะเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทั้งสามัญ อาชีพ ทักษะชีวิต การติดต่อสื่อสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนภาษาที่หลากหลายทุกอย่างล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้นตามลำดับทั้งสิ้น ดังนั้น การเรียนรู้ศาสนา ควบคู่ไปกับวิชาความรู้และทักษะด้านอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น



– ความจำเป็นของ ศธ.ที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาการศึกษา จชต.


จากความจำเป็นดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา โดยได้กำหนดจุดเน้นยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา คือ 1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2) การผลิตและพัฒนาครู 3) การทดสอบ/การประเมิน/การประกันคุณภาพ/การพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4) การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ 5) ICT เพื่อการศึกษา 6) การบริหารจัดการ รวมทั้ง 7) การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้


ในส่วนของการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ โดยมุ่งเน้นดำเนินการใน 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) การส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาสู่ระบบการศึกษา 3) การส่งเสริมความปลอดภัย สวัสดิการครู และบุคลากรทางการศึกษา 4) การเสริมสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ 6) การเสริมสร้างการศึกษาเพื่อความมั่นคง


คุณลักษณะที่พึงประสงค์จะให้เกิดกับผู้เรียนใน จชต.


รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์จะให้เกิดกับผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 8 ด้าน ดังนี้


สุขภาพดี  คือ การทำให้เกิดความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กีฬา และนันทนาการที่เหมาะสมกับวัย เพศ และวัฒนธรรมท้องถิ่น


เป็นคนเก่ง ผู้เรียนจะเป็นคนเก่งด้านความคิด ความรู้ และเทคโนโลยี กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่


การพัฒนาครู ซึ่งดำเนินการตามโครงการ TEPE Online ที่พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นพื้นฐาน ลดภาระของครูและทำให้ครูมีเวลาสอนหนังสือเพิ่มมากขึ้นและประหยัดงบประมาณ ลดค่าใช้จ่ายของครู และที่สำคัญเป็นการพัฒนาครูและสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูมีความก้าวหน้าแล้ว ดังนี้


การพัฒนางานในหน้าที่ เปิดระบบพัฒนาผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา 131 รายวิชาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559


การเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย จัดทำ 13 หลักสูตร คาดว่าจะเปิดใช้เดือนธันวาคม 2559


การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ จัดทำ 43 หลักสูตร คาดว่าจะเปิดใช้เดือนธันวาคม 2559


การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  จัดทำ 18 หลักสูตรสำหรับผู้บริหารการศึกษา, 32 หลักสูตรสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ 28 หลักสูตร รวมทั้งสิ้น 78 หลักสูตร อยู่ระหว่างการดำเนินการ


การขอมีและขอต่อใบประกอบวิชาชีพ จัดทำ 6 หลักสูตรสำหรับผู้บริหารการศึกษา 7 หลักสูตรสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา 8 หลักสูตรสำหรับศึกษานิเทศก์ และ 9 หลักสูตรสำหรับครู รวมทั้งสิ้น 30 หลักสูตร อยู่ระหว่างดำเนินการ


– การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ


การประกาศใช้หลักสูตรอิสลามศึกษา ฟัรฎูอีน ประจำมัสยิด ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) พุทธศักราช ๒๕๕๙/ฮิจเราะฮฺศักราช 1437  ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการรอนำเข้าสู่คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน คาดว่าในห้วงกลางเดือนกันยายนนี้น่าจะผ่านความเห็นชอบ และมีการประกาศใช้ต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะมีการพัฒนาในเรื่องประกอบที่จำเป็นหลายเรื่อง เพื่อให้ประกาศใช้หลักสูตรดังกล่าวสามารถนำไปดำเนินการได้อย่างแท้จริงและไม่เกิดผลกระทบ


STEM Education  เป็นการพัฒนาและยกระดับการศึกษา ที่จะตอบสนองต่อการเตรียมคนไทยรุ่นใหม่ ด้วยการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ดีบนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและตลอดเวลาอีกทั้ง เพื่อเป็นการสร้างวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำทางวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจและมีกลวิธี ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อปรับการเรียนการสอนของครู ให้สามารถพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ครูและนักเรียนเป็นคนไทยรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ได้ ดีในโอกาสต่อไป


ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้  หรือ Teach Less Learn More เป็นการลดเวลาเรียนในห้องเรียน เพื่อไปเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ได้ลงมือถือปฏิบัติจริง จากประสบการณ์จริง จากประสบการณ์ตรง เพื่อเป็นการฝึกให้นักเรียนได้ คิดวิเคราะห์ รู้จักการทำงานเป็นทีม เห็นความสำคัญของความสามัคคี และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้นที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและที่ทราบว่าในส่วนของโรงเรียนเอกชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการปัจจุบันมีโรงเรียนรวม 103 โรงเรียนในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ


โรงเรียนประชารัฐ  โดยมีความมุ่งหวังให้มีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีลักษณะและสมรรถนะความเป็นผู้นำในการบริหารการศึกษา ทั้งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่อไป มีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาตามหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ มีการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาระบบ ICT เพื่อการศึกษาและการบริหารจัดการศึกษา มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน จัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนและการจัดทำกิจกรรมเสริม หลักสูตรที่เน้นพัฒนาจิตสาธารณะเพื่อการบริการชุมชนและสังคม และมีการยกระดับความสามารถด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษา


การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม   กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนให้มีการเรียนทางไกลจากวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยการเรียนรู้ของนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงให้มีการสอนทางไกลมายังทุกๆโรงเรียน ที่มีสื่ออุปกรณ์จานดาวเทียม และเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้การเรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นทุกชั้นทุกวิชา ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะขยายอุปกรณ์สื่อทางไกล และการใช้งานไปยังสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทตามความเหมาะสม และหากสถาบันศึกษาปอเนาะ หรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) แห่งใดมีความสนใจ ก็อาจจะประชุมหารือความเหมาะสมของเครื่องมือ เนื้อหาสาระ และการดำเนินงานแล้วแจ้งความต้องการไปทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ ทั้งนี้ รวมถึงการใช้งานแหล่งเรียนรู้ใหม่ คือศูนย์ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่การศึกษานอกโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สถานศึกษาเอกชนทุกประเภทมีสิทธิ์ใช้ และเชื่อว่าผู้เรียนจะได้ประโยชน์อย่างมาก เมื่อได้ใช้แล้ว ต้องการจะพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องใด ก็ขอให้แสดงความคิดเห็นไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนอำเภอ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดได้โดยตรง


เป็นคนดี  ส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาด้านศาสนาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการศรัทธา เรียนรู้ และปฏิบัติศาสนกิจที่ตนนับถือ รวมทั้งค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ซึ่งเราได้มีการบรรจุในหลักสูตรอิสลามศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศใช้ตามที่กล่าวมาแล้ว หลังห้วงกลางเดือนกันยายนนี้


เป็นคนมีจิตอาสา  โรงเรียนและชุมชนร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมลูกเสือ และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมต้องทำอย่างเป็นระบบ


พัฒนาผู้เรียนไปสู่อาชีพในอนาคต  เป้าหมายในอนาคตของผู้เรียน คือการมีอาชีพและรายได้ โดยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การจัดชมรมอาชีพต่างๆ ในโรงเรียนตามความสนใจ ความถนัด และความเป็นไปได้ ให้มีการแนะแนวการศึกษา และอาชีพเป็นระยะๆ และส่งเสริมการเรียนวิชาชีพ โดยร่วมกับสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาในท้องถิ่น


เสริมสร้างความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม   โรงเรียนเป็นหลักสำคัญในการจัดการเรียนรู้ และกิจกรรมให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจในชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุข


เสริมสร้างความสามารถที่จะอยู่ร่วมในสังคมนานาชาติได้  จุดเน้น คือ การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) และมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย เพื่อการสื่อสารการเรียนรู้ และการประกอบอาชีพต่อไป


การสร้างความปลอดภัยแก่นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและสถานศึกษา  โดยได้มอบหมายให้ ศธ. ส่วนหน้า แต่งตั้งผู้ประสานงานความปลอดภัยระดับจังหวัด อำเภอ ทำหน้าที่ รับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น ส่งผลให้ในช่วงปีงบประมาณ 2558 มีข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพียง 1 คน บาดเจ็บ 1 คน จากเดิมปี 2557 เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 7 คน และในปี 2559 เรายังไม่พบการสูญเสีย


รมช.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำด้วยว่า ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่ารัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการศึกษาในทุกๆด้าน รวมทั้งการเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าจะไม่ได้รับ ก็ขอยืนยันว่ารัฐจะสนับสนุนการเรียนฟรีอย่างต่อเนื่องต่อไป ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติฯ ที่รัฐบาลทุกสมัยจะต้องปฏิบัติตาม คือ รัฐต้องจัดการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 ในขณะเดียวกันในเรื่องเสรีภาพการนับถือศาสนาตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาที่ตนนับถือทุกประการไม่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งจะได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพราะการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้นั้น คนไทยทุกคนจะต้องมีพื้นฐานทางศาสนาเป็นหลักสำคัญ




บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ขอบคุณ : ข้อมูลและภาพถ่ายจากคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ
21/8/2559