มอบนโยบายการพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยะลา
จังหวัดยะลา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2559 เพื่อพบปะและมอบนโยบายในการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดโดยสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โดยมีผู้บริหารการศึกษา ผู้รับใบอนุญาต โต๊ะครู ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคในจังหวัดยะลา และสงขลา (อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย) เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,300 คน

นายพิเชษฐ์ เจ้ยทองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดยะลา กล่าวถึงการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะท้องถิ่น การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อักลักษณ์ ความหลากหลายของวัฒนธรรม และความต้องการของท้องถิ่น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้รับใบอนุญาต โต๊ะครู ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนข้าราชการเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งด้านนโยบายและการขับเคลื่อน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่ และการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ แนวทางพัฒนาและการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษาเอกชนในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กิจกรรมโครงการ ประกอบด้วยการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่จำนวน 4 กลุ่ม รวมจังหวัดสงขลา (อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)
กลุ่มที่ 1 สช.จังหวัด/อำเภอ โรงเรียนสามัญและโรงเรียนนอกระบบ จำนวน 228 คน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่วิชาสามัญ จำนวน 428 คน
กลุ่มที่ 3 กลุ่มสถาบันศึกษาปอเนาะ จำนวน 114 คน
กลุ่มที่ 5 กลุ่มศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จำนวน 470 คน
นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการ 9 บูธ ประกอบด้วยสะเต็มศึกษา, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, สถาบันศึกษาปอเนาะ, ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด, โครงการตามพระราชดำริ, เศรษฐกิจพอเพียง, ดาราศาสตร์, มูลนิธิชัยพัฒนา และกิจกรรมแสดงความสามารถด้านต่างๆ ของนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,300 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สช. และความอนุเคราะห์สถานที่ในการจัดโครงการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผอ.สช.จังหวัดยะลา นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะกรรมการดำเนินการจัดโครงการ ผู้ให้การสนับสนุน ผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน พร้อมทั้งได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการถือว่าเป็นการช่วยเหลือรัฐ หรือแบ่งเบาภาระของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะร่วมกันจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามความต้องการของคนในพื้นที่ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น และตามหลักศาสนา ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดการออกกลางคันของนักเรียน การใช้งบประมาณ และทรัพยากรที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะเดียวกัน รัฐหรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถจัดการการศึกษาได้อย่างคล่องตัว ต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน
ความสำเร็จดังกล่าว จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ จากผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงตามความต้องการของพวกเรา คือ การร่วมกันพัฒนาการศึกษาเอกชนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งผลจากการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำไปกำหนดเป็นนโยบาย และโครงการ หรือกิจกรรมในแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางนโยบายต่างๆ อาทิ การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี (พ.ศ.2560–2579) ซึ่งมีกรอบวิสัยทัศน์ คือ “ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่” เพื่อมุ่งเน้นคนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้รวมถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการที่จะได้มาจะต้องมีสิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพสูงสุดด้วย “การปฏิรูปและพัฒนาการศึกษา”
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งเน้นดำเนินการใน 6 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) การส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาสู่ระบบการศึกษา 3) การส่งเสริมความปลอดภัย สวัสดิการครู และบุคลากรทางการศึกษา 4) การเสริมสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ 6) การเสริมสร้างการศึกษาเพื่อความมั่นคง
โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ด้าน คือ สุขภาพดี, เป็นคนเก่ง, เป็นคนดี, มีจิตอาสา, ได้รับการพัฒนาไปสู่อาชีพในอนาคต, ได้รับการเสริมสร้างความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม, การเสริมสร้างความสามารถที่จะอยู่ร่วมในสังคมนานาชาติได้ และมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า แต่งตั้งผู้ประสานงานความปลอดภัยระดับจังหวัด อำเภอ ทำหน้าที่ รับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น ส่งผลให้ในช่วงปีงบประมาณ 2558 มีข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพียง 1 คน บาดเจ็บ 1 คน จากเดิมปี 2557 เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 7 คน และในปี 2559 เรายังไม่พบการสูญเสียแต่อย่างใด
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ขอบคุณ : ข้อมูลและภาพถ่ายจากคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ
21/8/2559