อ.มหิดลคิดค้นชุดตรวจหาเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับของสัตว์
รศ.ดร.น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พัฒนาคิดค้นจากงานวิจัยของตนเองจนได้ “ชุดตรวจหาเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับของสัตว์” ได้รวดเร็วและแม่นยำแห่งแรกของประเทศไทย สามารถตรวจหาเชื้อจากโคกระบือที่ติดโรค ทราบผลภายใน 4 ชั่วโมง
รศ.ดร.น.สพ.ปณัฐ กล่าวว่า “วิธีการตรวจหาเชื้อในปัจจุบันนั้น ใช้วิธีการตรวจหาไข่พยาธิที่ปนมากับอุจจาระโคและกระบือ การตรวจโดยใช้วิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก มีขั้นตอนยุ่งยาก และที่สำคัญใช้เวลานาน ผลที่ได้ก็ยังไม่มีความแม่นยำ เพราะเมื่อสัตว์ติดพยาธิใบไม้ในตับไปแล้ว จะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระในระยะเวลา 13 สัปดาห์ ทำให้บางทีการรักษาจะล่าช้า ทำให้สัตว์ของเราตายในที่สุด โดยโรคพยาธิใบไม้ในตับของสัตว์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ สัตว์ที่มีเชื้อพยาธิใบไม้ในตับเมื่ออุจจาระออกมา ตัวอ่อนของพยาธิจะไชเข้าไปสู่หอยที่อยู่ตามธรรมชาติและมีการเจริญเติบโตในตัวหอย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะออกจากหอยว่ายไปตามบึงน้ำและเกาะอยู่ตามพืชน้ำชนิดต่างๆ เช่น ผักบุ้ง เมื่อคนนำมารับประทานก็จะได้รับเชื้อพยาธิใบไม้ในตับเข้าไปสู่ร่างกายคนได้”
การวินิจฉัยโรคทางระบบภูมิคุ้มกันวิทยาเพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์โรคมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากทราบเร็วว่าสัตว์ติดพยาธิหรือไม่ จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดพยาธิสภาพหรือพิการที่ตับ หรืออาการป่วยของสัตว์ที่เกิดจากพยาธิได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการลดการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ในทุ่งหญ้าหรือบริเวณหนองน้ำที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอีกด้วย “สำหรับชุดตรวจหาเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับของสัตว์นี้ สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำที่สุดในประเทศ สามารถลดข้อจำกัดของวิธีการตรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ในการตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระซึ่งต้องใช้ทักษะในการวินิจฉัยสูง เราจะใช้ตัวอย่างซีรั่มในการตรวจหาเชื้อ ชุดตรวจนี้เคยนำไปลงภาคสนามและประสบความสำเร็จในการตรวจ ได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ที่นำตัวอย่างซีรั่มของสัตว์ที่เป็นโรคมาให้เราทดสอบ ชุดตรวจนี้ใช้วิธีการตรวจแบบ double sandwich ELISA สามารถตรวจหาเชื้อได้ในทุกระยะของการติดเชื้อและทราบผลภายใน 4 ชั่วโมง นอกจากโรคพยาธิใบไม้ในตับดังกล่าวตอนนี้ผมและทีมวิจัยกำลังพัฒนาชุดตรวจตรวจหาเชื้อโรคพยาธิใบไม้ชนิดอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำยิ่งขึ้นไปอีกและให้ผลการตรวจได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม” รศ.ดร.ปณัฐ กล่าว
จากการทุ่มเท ศึกษา ค้นคว้าด้านโรคพยาธิใบไม้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้ รศ.ดร.น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา ได้รับรางวัลนักปรสิตวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น (Young Parasitologist Award) ประจำปี พ.ศ.2559 จากสมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย และยังได้รับรางวัลสำคัญต่างๆ อีกมากมาย