‘มหกรรมเปิดโลกวิชาการ สานพลังสู่ศตวรรษที่ 21’ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ‘คุณหญิงกัลยา’ ชูเป็นต้นแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสืบทอดประเพณีอันดีงามควบคู่กัน
(23 มกราคม 2564) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “มหกรรมเปิดโลกวิชาการ สานพลังสู่ศตวรรษที่ 21” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 (สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3) ณ โรงเรียนบ้านนาคู อ.นาคู จ. กาฬสินธุ์ โดยมีนายเพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุริยะ ใจวงษ์ ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและร่วมงาน
นายสุริยะ ใจวงษ์ กล่าวว่า มหกรรมเปิดโลกวิชาการ สานพลังสู่ศตวรรษที่ 21 จัดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน นำเสนอความสำเร็จของการจัดการศึกษา การพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้ ทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิต อันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเสริมสร้างทักษะในการดำเนินชีวิตของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ตอบสนองการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังเป็นการนำเสนอผลงานที่น่าภาคภูมิใจของสถานศึกษาสังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 อีกด้วย
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า งานนี้เป็นการรวมพลังของสังคมเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ทันสมัย ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science-Technology-Innovation : STI)
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องแต่งกาย ก็ถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่แสดงให้ชาวโลกรู้ว่าคนไทยไม่เพียงแต่เก่งด้านวิชาการเท่านั้น แต่ในด้านวัฒนธรรมประเพณีก็ยังมีความเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การศึกษาสามารถพัฒนาควบคู่กับการแสดงออกทางวัฒนธรรม
มหกรรมเปิดโลกวิชาการฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่จะสื่อสารกับชาวโลกว่า เราคนไทยสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า และสืบทอดประเพณีอันดีงามควบคู่กันไป ตลอดจนสามารถยกระดับการศึกษาของประเทศสู่สากล ได้อย่างเท่าเทียมและเท่าทัน
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีส่งมอบ “ร้านกาแฟสร้างอาชีพ โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED)” ภายใต้การสนับสนุนโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อฝึกทักษะการขาย สร้างอาชีพให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ และเข้าใจการเก็บออมเงิน ฝึกทักษะการเรียนรู้ในสาระการงานพื้นฐานอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปวิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นำหัวหน้าส่วนราชการ และคณะผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การจัดการศึกษาทางด้านสายอาชีพในโรงเรียนตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 กับวิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง
พร้อมทั้งมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า หน้าที่สำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาคือ 1) ทำให้นักเรียนมีความสุข สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการศึกษา 2) ทำให้ครูมีศักดิ์ศรี สร้างขวัญกำลังใจและสนับสนุนการจัดการสอน 3) ทำให้ผู้ปกครองมีความสบายใจที่จะส่งลูกหลานเข้ามาเรียน 4) ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม ตลอดจนส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ประกอบกับสติ มาใช้ในการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล เพื่อให้เมื่อนักเรียนจบไปแล้วเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน สร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและเป็นคนดีของสังคม