นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๒ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
เห็นชอบแนวทางการวางระบบประเมินผล และการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
ครม.เห็นชอบแนวทางการวางระบบประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ โดยเห็นชอบแนวทางการวางระบบประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาและแนวทางการดำเนินงานสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินผลและจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษา และทดลองดำเนินการตามแนวทางการวางระบบประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษา สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เป็นระยะเวลา ๒-๓ ปี จากนั้นให้มีการประเมินเพื่อขยายผลการดำเนินการไปยังสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการต่อไป
สำหรับสาระสำคัญ ของแนวทางการวางระบบประเมินผล และการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ มีดังนี้ ๑) การปรับปรุงโครงสร้างและการจัดระบบความสัมพันธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ให้เกิดการถ่วงดุลอย่างเหมาะสม โดยให้มีการวางระบบคณะกรรมการและหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบการประเมินผลและจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษา ๒) หลักการประเมินผลและจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการประเมินผลและจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษาพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยรวมเงินจูงใจประเภทต่าง ๆ (ถ้ามี) เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณ ให้สถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนให้สามารถพัฒนาการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้บรรลุมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา และจัดให้มีระบบประเมินมาตรฐานและคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาในระดับสถาบัน (Institutional Review) ตามเกณฑ์มาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาและมาตรฐานอุดมศึกษาผลการประเมินระดับสถาบันจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี
ส่วนแนวทางสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ (๖๗ แห่ง) แบ่งการดำเนินการเป็น ๒ ระยะ โดยในระยะสั้น (เตรียมการ) ให้ สงป. พิจารณาวางแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมแก่สถาบันอุดมศึกษาตามประเภทหรือกลุ่มสถาบันที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา และให้สถาบันอุดมศึกษาเลือกประเภทหรือกลุ่มสถาบันที่เหมาะสมกับสภาพของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ส่วนในระยะยาวให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น
——————————————————————————–
การประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา
ครม.เห็นชอบกับข้อเสนอของ สำนักงาน ก.พ.ร. และรับทราบการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ดังนี้
๑) ผลการประเมินตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา หลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการจัดสรรสิ่งจูงใจ การจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ และรายงานผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร.
๒) การดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ในการประสานสำนักงบประมาณเพื่อจัดงบประมาณไปตั้งจ่ายที่กรมบัญชีกลางจำนวน ๖,๗๓๕ ล้านบาท สำหรับจ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ ให้แก่หน่วยงานเพื่อหน่วยงานจัดสรรให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน ๕,๕๕๐ ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๑,๑๘๕ ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
๑) เห็นชอบให้ใช้แนวทางการจัดสรรเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติ ตามที่ใช้อยู่เดิมและแนวทางการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและสำหรับหน่วยงานเพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งใช้แนวทางการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับผู้บริหารตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ที่ได้อนุมัติในหลักการแนวทางการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ และรับทราบแนวทางการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอให้จัดสัดส่วนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารเป็น ๕๐:๕๐ กล่าวคือ จ่ายให้ผู้บริหารเป็นจำนวนร้อยละ ๕๐ ของจำนวนเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารที่คำนวณได้จริง ส่วนอีกร้อยละ ๕๐ ของจำนวนเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวให้นำไปสมทบกับเงินรางวัลที่จะจัดสรรให้ผู้ปฏิบัติของส่วนราชการที่ผู้บริหารนั้น ๆ สังกัดอยู่ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรที่ ก.พ.ร.กำหนด
๒) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาระบบการบริหารค่าตอบแทนในภาคราชการไทยและได้ โดยได้จัดจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยผลการจัดทำคำรับรองและประเมินผลการปฏิบัติราชการและการจัดสรรสิ่งจูงใจที่มีต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของส่วนราชการและการทำงานของข้าราชการ และจัดจ้างสวนดุสิตโพลดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการและลูกจ้างประจำที่มีต่อการรับเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ และความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีต่อเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งสรุปผลว่า ข้าราชการและลูกจ้างประจำส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดสรรเงินรางวัลต่อไป (มีเพียงร้อยละ ๑๓.๒๓ ที่เห็นว่าไม่ควรมีต่อไป) เพราะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานและเป็นการช่วยข้าราชการลูกจ้างที่มีรายได้น้อย
๓) สนับสนุนให้ส่วนราชการระดับกระทรวงมีบทบาทในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับกรมในสังกัด ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ มีกระทรวงนำร่องคือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ มีการดำเนินการต่อเนื่องและเพิ่มการนำร่องที่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีกรอบหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการตามที่ ก.พ.ร.กำหนด
——————————————————————————–
เห็นชอบขยายเวลาการบริหารจัดการตำแหน่งว่างของส่วนราชการ
ครม.เห็นชอบการขยายเวลาให้ส่วนราชการดำเนินการสรรหาบุคคลมาบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งว่างจนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ และรายงานให้สำนักงาน ก.พ. ทราบภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติต่อไป ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นปรากฏว่า ส่วนราชการได้ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งว่างดังกล่าวแล้วจำนวนหนึ่ง เนื่องจากส่วนราชการต้องปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งตามหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. ซึ่งต้องนำเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาก่อน ประกอบกับในเดือนเมษายนมีวันหยุดราชการหลายวัน นอกจากนี้หลายส่วนราชการอยู่ระหว่างการเรียกบุคคลมาบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งว่างประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒
——————————————————————————–
อนุญาตก่อสร้างอาคารศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมและปฏิบัติการอเนกประสงค์เป็นกรณีพิเศษ และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล
ครม.พิจารณาการขออนุญาตก่อสร้างอาคารศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมและปฏิบัติการอเนกประสงค์เป็นกรณีพิเศษ และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินเกิน ๑,๐๐๐ ล้านบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติอนุญาตให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรม และปฏิบัติการอเนกประสงค์ ในพื้นที่บริเวณรอบนอกแนวเขตที่ดินของพุทธมณฑลในระยะ ๓๐๐ เมตร เป็นกรณีพิเศษ โดยก่อสร้างเป็นอาคารใช้งานในการฝึกปฏิบัติด้านดนตรีที่มีความสูงเกิน ๑๒ เมตร และมีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร โดยอนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการอาคารศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมและปฏิบัติการอเนกประสงค์ ภายในวงเงิน ๑,๐๔๘.๙๕ ล้านบาท ตามผลการจัดหาโดยวิธีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลางแล้ว.
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน
มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา