ศึกษาธิการ – เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ.ศ. 2556-2559) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ.ศ.2556-2559) ตามมติคณะกรรมการสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ไปดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการ หรือนำแผนงานโครงการที่เป็นตัวอย่างไปดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา (พ.ศ. 2556-2559) ได้ผ่านการพิจารณาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์แล้ว โดยเยาวสตรีในสถานศึกษา หมายถึง สตรีที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ประกอบด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลในสถานศึกษา (2) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาในสถานศึกษา (3) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในสถานศึกษา (4) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทสามัญ ประเภทการอาชีวศึกษาในสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลาง หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปชั้นกลาง (5) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปะชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) และระดับปริญญาตรี (6) สตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในการศึกษาทุกระดับการศึกษาที่เชื่อมโยงกับบทบาทสตรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพเยาวสตรี ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษานำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักภาพเยาวสตรีทั้งการพัฒนาเยาวสตรีทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การพัฒนาทักษะความรู้ด้านอาชีพ และศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการสร้างครอบครัวอบอุ่นและภูมิคุ้มกันตนเองจากภัยสังคมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ โดยมียุทธศาสตร์หลัก 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างภูมิปัญญา ทักษะชีวิต และค่านิยมสร้างสรรค์ ธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทางวัฒนธรรมของเยาวสตรีไทย ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต มีทักษะอาชีพ พื้นฐาน และศักภาพทางเศรษฐกิจของเยาวสตรี ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น เยาวสตรีมีภูมิคุ้มกันตนเองต่อภัยคุกคามของปัญหาสังคม
การพิจารณาแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สมศ.
ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ชุดใหม่ เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สมศ. ชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 4 ปีตามวาระแล้ว ตามที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เสนอ ดังนี้
1. นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานกรรมการ
2. นางเพ็ชรากรณ์ วัชรพล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นายเลอศักดิ์ จุลเทศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นางวัลลิยา ปังศรีวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 เป็นต้นไป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
17/9/2556