มช. โชว์เทคนิคทำลิ้นจี่นอกฤดู แก้ปัญหาบนพื้นที่สูง

ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ

     โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการสวนไม้ผลในระบบปลูกชิดบนพื้นที่สูง : กรณีศึกษาการปลูกลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วงนอกฤดู เป็นหนึ่งในโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้อนุมัติทุนสนับสนุน แก่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมมือกับนักวิจัยจากประเทศเยอรมนี ดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของสวนไม้ผลบนที่พื้นที่สูง อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีมากกว่า 15 ชนเผ่า กระจายอยู่ในพื้นที่ 20 จังหวัด

      หนึ่งในผลงานที่สำคัญภายใต้โครงการดังกล่าวคือ การเพิ่มศักยภาพการตลาดลิ้นจี่ ด้วยการผลิตเป็นผลไม้นอกฤดู

      รศ.ดร. ทิพยา สรวมศิริ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบัน ลิ้นจี่ เป็นไม้ผลเศรษฐกิจของภาคเหนือที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจครัวเรือนของเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 131,517 ไร่ ใน ปี 2552 ผลผลิตรวมประมาณ 71,608 ตัน มูลค่าการค้าการส่งออก 300 ล้านบาท

      ด้วยลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่ต้องการอากาศเย็น จึงนิยมปลูกบนพื้นที่ภูเขาสูง ที่มีความลาดชันสูง อันเป็นพื้นที่อยู่ของชาวเขา

ทำไม ต้องทำนอกฤดู

 

     การปลูกต้นลิ้นจี่บนพื้นที่สูงนั้น ดร. ทิพยาบอกว่า ได้กลายเป็นผลดีต่อประชาชนที่อยู่บนพื้นที่ราบ เพราะลิ้นจี่ช่วยลดผลกระทบจากการชะล้างพังทลายของหน้าดินบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร อันเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการดำเนินชีวิตของผู้คนบนพื้นที่ราบ

      “เหตุเพราะต้นลิ้นจี่เป็นไม้ผลขนาดใหญ่ มีเรือนทรงพุ่มต้นกว้าง จึงทำหน้าที่เหมือนไม้ป่าในการช่วยปกป้องหน้าดินจากการถูกชะล้างและช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้บนพื้นที่สูงได้ดีกว่าการปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ”

      “อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ทำให้อุณหภูมิอากาศบนพื้นที่สูงร้อนขึ้น และเกิดภาวะแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติ ต้นลิ้นจี่จึงขาดความอุดมสมบูรณ์ ออกดอกติดผลน้อยลง หรือออกดอกติดผลปีเว้นปี” ดร. ทิพยา กล่าว

      ผลที่ตามมาคือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงอย่างมาก และมีแนวโน้มตัดฟันต้นลิ้นจี่ทิ้งและเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่ หรือพืชผักอายุสั้นอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นพืชต้องการใช้น้ำมากและต้องใช้สารเคมีเกษตรในปริมาณมาก ก่อปัญหาและผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่สูง ในฐานะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศ

      โครงการที่ ดร. ทิพยา และทีมงานผู้วิจัย คือ นางสาวนุดี เจริญกิจ นิสิตปริญญาเอก ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ ปี 2550 นี้ จึงเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญที่จะช่วยปกป้องแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศ และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนบนพื้นที่สูงอีกด้วย

      “เทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่นอกฤดูที่พัฒนาได้นี้ ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดีในการทดสอบขยายผลเทคโนโลยี เมื่อ ปี 2553 ที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพะเยา ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตออกจำหน่ายนอกฤดูในเดือนธันวาคม ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ และยังสามารถเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ก่อนฤดูได้ในเดือนมีนาคม”

      ดร. ทิพยา กล่าวต่อว่า ขณะที่โดยปกติลิ้นจี่โดยทั่วไปในเขตภาคเหนือของไทยจะเก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ของประเทศจีน ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลิ้นจี่รายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ การผลิตลิ้นจี่ก่อนฤดูและลิ้นจี่นอกฤดูตามเทคโนโลยีที่พัฒนานี้จะช่วยลดปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปกติ จึงเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำสำหรับในฤดูปกติได้ด้วย

      “ตามธรรมชาติลิ้นจี่จะออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ชนิดต่างๆ ออกสู่ตลาดเช่นกัน ไม่ว่า ทุเรียน เงาะ เมื่อออกมาสู่ตลาดพร้อมกันจึงทำให้เกิดปัญหาด้านราคาตามมา” ดร. ทิพยา กล่าว

      และที่สำคัญอีกประการ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดการค้าเสรีขึ้น คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่

      “ลิ้นจี่ของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า จะทำให้เกษตรกรขาดรายได้และประสบปัญหาสภาวะหนี้สิน คาดว่าเกษตรกรส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและพืชไร่ ก่อให้เกิดปัญหาการชะล้างหน้าดิน และสารเคมีเกษตรตกค้างในแหล่งน้ำต่างๆ”

      ดังนั้น สิ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลดีคือ การผลิตเป็นลิ้นจี่นอกฤดู โดยเฉพาะการทำให้ออกสู่ตลาดได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น เทศกาลเชียงใหม่ เทศกาลตรุษจีน

      ดร. ทิพยา บอกว่า การผลิตลิ้นจี่นอกฤดูจะช่วยแก้ไขปัญหาการให้ผลเว้นปี ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และปัญหาการตลาด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในการผลิต และส่งออกลิ้นจี่ผลสด และลิ้นจี่แปรรูปในระยะยาวต่อไปด้วย

ขั้นตอนทำลิ้นจี่นอกฤดู

      สำหรับการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่นอกฤดูตามโครงการของ ดร. ทิพยานั้น ได้ดำเนินการทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา

      โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดทำแปลงทดลองขึ้นที่สวนลิ้นจี่ของเกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง ที่บ้านแม่สาใหม่ ตำบลแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บนความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยปลูกลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยเป็นหลัก

      สำหรับเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่นอกฤดูบนพื้นที่สูง ที่ ดร. ทิพยา ได้เข้ามาดำเนินการส่งเสริมให้ดำเนินการนั้น จะมีวงรอบการปฏิบัติงานดังนี้

      หนึ่ง เตรียมความพร้อมของพื้นที่ด้วยการวิเคราะห์ดิน น้ำ และตรวจสอบประวัติการผลิต และปัญหาการผลิตในปีที่ผ่านมา

      สอง ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ดำเนินการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่ม ให้มีขนาดทรงต้นเตี้ย ไม่เกิน 2.50 เมตร

      “ถ้าต้นลิ้นจี่ สูง 3-5 เมตร เหมือนเดิมนั้น การขึ้นไปเก็บเกี่ยวผลผลิตจะลำบากและต้นทุนค่าแรงงานจะสูง เรียกว่าค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท ไม่มีใครมารับจ้างทำ ดังนั้น หากมีการตัดแต่งให้ต้นสูงเพียง 2.50 เมตร ให้ค่าจ้างแรงงานเพียง 200 บาท ก็มีคนทำแล้ว“

     อีกข้อดีของการทำให้ต้นลิ้นจี่ที่มีความสูงให้ต่ำลง คือจะทำให้ขนาดของผลมีความสม่ำเสมอ ถ้าปล่อยเป็นต้นสูง สิ่งที่พบคือ ผลจะไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง 

     หลังจากตัดแต่งควบคุมทรงพุ่มแล้ว ดร. ทิพยา บอกว่า จะกระตุ้นการแตกใบอ่อนด้วย Thioured หรือ KNO3 พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 46-0-0, 15-15-15 และปุ๋ยอินทรีย์

     สาม ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะกระตุ้นการแตกใบใหม่ 2 ครั้ง เพื่อเตรียมใบให้พร้อมสู่ระยะบังคับออกดอก

     สี่ ช่วงเดือนเมษายน-พฤกษาคม เมื่อใบชุดที่ 2 เข้าสู่ระยะใบเพสลาดให้ควั่นกิ่ง โดยควั่นให้รอบกิ่ง ให้ลึกถึงเนื้อไม้ เพื่อกระตุ้นการสะสมอาหารและเตรียมออกดอก

     ห้า จากนั้นให้พ่นปุ๋ยทางใบด้วยปุ๋ย สูตร  0-52-34 เข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ผสมเอทีฟอน 400-800 มิลลิกรัม ต่อลิตร เมื่อ 15 วันหลังควั่นกิ่ง จำนวน 3 ครั้ง เว้นระยะห่าง 5 วัน

     หก เมื่อถึงระยะแทงช่อดอก/ติดผล ให้พ่น CaB เพื่อเพิ่มการติดผล และพ่นสารเคมีเกษตรเพื่อควบคุมโรคแมลง และรักษาผลอ่อน ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

     เจ็ด ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เป็นระยะพัฒนาผล จะพ่นสารเคมีควบคุมหนอนเจาะขั้วผล ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลิ้นจี่อย่างมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันคือเมื่อผลลิ้นจี่เปลี่ยนสีจากสีเขียวมาเป็นสีชมพูเรื่อๆ ซึ่งจะฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเก็บผล ประมาณ 1 เดือน เมื่อฉีดพ่นสารเคมีแล้วจะห่อช่อผล เป็นวิธีการที่ช่วยลดการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผลลงได้อย่างมาก 

     แปด ระยะเก็บเกี่ยว อยู่ประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม เกษตรกรจะสามารถนำไปจำหน่ายในช่วงต้นปีใหม่และตรุษจีนได้พอดี ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-200 บาท เรียกได้ว่าเป็นการทำให้ผลผลิตออกจำหน่ายได้ในช่วงที่ตลาดมีความต้องการมาก

ดร. ทิพยา ได้กล่าวถึงผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับคือ มีกำไรมากขึ้น

     “ในปีที่เข้ามาเริ่มทดลองนั้น พบว่าต้นลิ้นจี่ของเกษตรกรโดยทั่วไปไม่ออกดอก ส่งผลทำให้เกษตรกรขาดทุนถึง 11,883.31 บาท ต่อไร่ แต่เมื่อนำกรรมวิธีการผลิตเป็นลิ้นจี่นอกฤดูที่ศึกษามาใช้ สามารถช่วยให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกได้ถึง ร้อยละ 88.77 ได้ผลผลิตรวม 2,943 กิโลกรัม ต่อไร่ และเป็นกำไรหลังค่าใช้จ่ายแล้วถึง 46,976.69 บาท ต่อไร่“

     “ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผลผลิตลิ้นจี่จะได้ประมาณ 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่เมื่อดำเนินการตามวิธีการที่แนะนำแล้วจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดราคาจำหน่ายเพียง กิโลกรัมละ 20 บาท ก็จะมีรายได้ตามตัวเลขข้างต้น” ดร. ทิพยา  กล่าวในที่สุด

     การผลิต ลิ้นจี่นอกฤดูบนดอยสูง จึงนับเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่ยังประโยชน์โดยตรงแก่คนบนพื้นที่สูงและโดยอ้อมแก่คนบนพื้นที่ราบของประเทศไทย

 

แหล่งที่มา : http://www.matichon.co.th/