พบ นศ.มณฑลเสฉวน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและมอบโอวาทแก่นักศึกษาชาวจีนจำนวน 100 คน จากมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมที่ประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ขอต้อนรับนักศึกษาจากมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน สู่ประเทศไทย เพื่อที่จะได้มีโอกาสไปให้ความรู้กับลูกหลานไทยทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก และอุบลราชธานี


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คนไทยตระหนักดีว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศซึ่งเป็นมิตรแท้ คนไทยและคนจีนมีความรักความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน คนจีนก็เปรียบเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ของคนไทย ชาวไทยจึงมีความรักพี่น้องชาวจีนเสมือนญาติ ซึ่งทำให้ลูกหลานเยาวชนไทยได้รับความรักและความผูกพัน ยังผลให้ลูกหลานเยาวชนไทยมีความสนใจศึกษาเล่าเรียนภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของจีน รวมทั้งตัดสินใจไปศึกษาต่อที่จีนเป็นจำนวนมาก


นอกจากนี้ ในปัจจุบันส่วนราชการ รวมถึงบริษัทเอกชนของไทยมักจะพิจารณารับลูกหลานเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาด้านภาษาจีนและพูดภาษาจีนได้เข้าทำงานในอันดับแรก จึงถือว่าเป็นกำไรของชีวิต อีกทั้ง จากการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย พบว่าลูกหลานเยาวชนไทยพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วมาก อาทิ นักเรียนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ซึ่งไปพบปะและตรวจเยี่ยมมาเมื่อเร็ว ๆ นี้


อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการหวังว่านักศึกษาจีนที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 4 เดือน จะพึงพอใจ และได้รับประสบการณ์และน้ำใจไมตรีจิตจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ไปทำการฝึกสอน โดยขอให้มองลูกหลานนักเรียนไทยเป็นเสมือนน้องและญาติ และช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้ในภาษาจีนที่ถูกต้องมีความไพเราะเพราะพริ้ง สุดท้ายนี้ ในนามของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไทย ขอขอบคุณอธิบดีกรมการศึกษาแห่งมณฑลเสฉวน และขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้โครงการนี้เกิดความสำเร็จด้วยดี



สำหรับการเข้าเยี่ยมคารวะในครั้งนี้ มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครเฉิงตู, นายหู เว่ยเฟิง อธิบดีกรมการศึกษาแห่งมณฑลเสฉวน, ศาสตราจารย์ชะภิพร เกียรติคชาธาร หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือจีน-ไทย มหาวิทยาลัยเฉิงตู และนายกสมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-จีน, นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, รศ.โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายมนต์ชัย วิวัฒธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก, นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวนงศิลินี โมสิกะ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป., ผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้งฝ่ายไทยและจีน เป็นต้น




สำหรับโครงการอาสาสมัครนักศึกษาจีนเพื่อการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือมหาวิทยาลัยในราชอาณาจักรไทย เริ่มต้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเจ้าของภาษาที่มีความรู้ความสามารถ และมีมาตรฐานด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล หรือในเขตจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ไม่มีครูผู้เป็นเจ้าของภาษามาสอน อีกทั้งประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน จึงต้องมีการเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาจีนให้สื่อสารได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพกว้าง


ในระยะแรกโครงการนี้เเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเฉิงตู และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วเป็นรุ่นที่ 11 ของจังหวัดเชียงใหม่, รุ่นที่ 6 ของจังหวัดลำพูน, รุ่นที่ 4 ของจังหวัดอุบลราชธานี และรุ่นที่ 2 ของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนักศึกษาจีนที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากทุกสาขาวิชา โดยเป็นการเข้าร่วมโครงการนอกหลักสูตร กล่าวคือ นักศึกษาต้องพักการเรียนเพื่อมาทำหน้าที่สอนในประเทศไทยเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อเสร็จภารกิจนักศึกษาจะต้องกลับไปเรียนเสริมและสอบย้อนหลัง อีกทั้งต้องได้รับการอบรมเพื่อมาทำหน้าที่ในประเทศไทย โดยอาศัยเวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และนักศึกษาต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประเทศไทยเอง ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดมีงบประมาณสนับสนุนบางส่วน และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายตามบริบทของแต่ละพื้นที่


อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้ขยายผลไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย-จีนด้วย อาทิ การส่งเสริมการเป็นเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และนครเฉิงตู, โรงเรียนคู่มิตรระหว่างสถานศึกษาไทย-จีน เป็นต้น ตลอดจนมีแนวทางในการขยายผลความร่วมมือให้นอกเหนือไปกว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเฉิงตู อาทิ สถานศึกษาในจังหวัดลำพูน, จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น และมีแนวทางที่จะขยายผลไปยังสถาบันอุดมศึกษาอื่นในไทยด้วย




อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพถ่ายจากกลุ่มสารนิเทศ สป.
1/6/2560