ศึกษาธิการ – รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงความยินดีในการเข้าดำรงตำแหน่ง และหารือแนวทางนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ที่ห้องประชุม MOC
รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ ได้นำเสนอแผนรับนักศึกษาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีการศึกษา 2556 มีการรับนักศึกษาใน มทร.ทั้ง 9 แห่งจำนวนทั้งสิ้น 51,232 คน จากจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 121,739 คน ส่วนภาวะการมีงานทำของผู้ที่จบการศึกษาจาก มทร. ทั้ง 9 แห่ง มีจำนวนสูงมากคือร้อยละ 80.09
– การส่งเสริมให้จัดการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ และยกระดับคุณภาพ สมรรถนะผู้เรียนให้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ความต้องการของภาคการผลิตในสาขาวิชาที่ขาดแคลนมีสูงมาก มทร.ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดการศึกษาทางด้านเทคโนโลยี จะต้องผลิตและพัฒนาแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะวิชาชีพสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถกำลังคน ให้สอดรับกับสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ
– ความร่วมมือกับอาชีวะและภาคเอกชน จะต้องร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ รวมทั้งอาจจะต้องสับหลีกหรือส่งต่อผู้เรียนร่วมกัน นอกจากนี้จะต้องร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เพื่อให้ มทร.แต่ละแห่งสามารถจัดการศึกษาในสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนอย่างแท้จริง
– ปริญญาตรีสายอาชีพ จะต้องหารือกับอาชีวะในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรีสายอาชีพ แต่ละแห่งควรเน้นสาขาวิชาใด โดยคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณการผลิต และจะช่วยการบริหารทรัพยากรในการจัดการศึกษาด้วย นโยบายสำคัญของ ศธ.ต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสามัญให้เป็น 51:49 ดังนั้นการจัดการศึกษาปริญญาตรีจึงไม่ควรกระทบกับการจัดการศึกษาระดับ ปวช./ปวส. ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สอศ.
– การเพิ่มขีดความสามารถของ มทร. ควรจะต้องมีการประเมินการผลิตกำลังคน โดยเทียบเคียงกับต่างประเทศและอนาคต เพื่อให้รู้ว่า มทร.อยู่ในส่วนใด มีสมรรถนะอย่างไร ทั้งนี้เพราะภาคอุตสาหกรรมในอนาคตจะเปลี่ยนไปมาก มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ประเทศจึงต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีในสาขาใหม่ๆ มทร.จึงอาจจะหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยหาค่าการวัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) โดยเทียบเคียงกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนในสาขาต่างๆ ที่มีสมรรถนะสูงขึ้นในอนาคต
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
8/10/2556