ผ่านวัตกรรม ’STEM Education’ศูนย์เรียนรู้เด็กไทยก้าวสู่อาเซียน

          เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรมการศึกษาสสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดเผยถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวที่ดำเนินไปเกือบ 2สปีว่าสได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสถาบันคีนันได้เข้าไปลงลึกถึงระดับห้องเรียนสเริ่มด้วยการอบรมครูและผู้บริหารเพื่อสร้างภาวะผู้นำทางวิชาการในการปรับใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสืบเสาะหาความรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะเชิงคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์
          ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ อันเป็นการเรียนอย่างสนุกสนานและเข้าใจ โดยมีการทดลองให้เห็นจริง โดยแนวทางการสอนอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ “สะเต็มศึกษา” (Science, Technology, Engineering and Mathematics Education / STEM) ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการ เรียนรู้ที่บูรณาการความรู้ในสหวิทยาการ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
          ขณะที่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมากเพราะไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีตัวเลขชัดเจนว่าในระดับปริญญาตรี เด็กจะเลือกเรียนสายสังคมศาสตร์มากถึง 62% เรียนสายวิทยาศาสตร์แค่ 32% จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรามีครูสายวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสายสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เห็นชัดเจนว่า ถึงความแตกต่างระหว่างการเรียนต่อสายสามัญกับสายวิชาชีพของเด็กจบ ม.ต้น โดยเลือกเรียนสายสามัญมากถึง 65% เลือกเรียนสายอาชีพแค่ 35% ซึ่งแม้รัฐบาลต้องการให้เป็น 50 : 50 แต่ในความเป็นจริงเด็กส่วนใหญ่เลือกเรียนสายสามัญมากกว่า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต้องการมีช่างเทคนิคเยอะๆ ซึ่งหากปล่อยให้ค่านิยมของเด็กไทยและผู้ปกครองเป็นแบบนี้ก็ไม่มีทางเพิ่มจะสัดส่วนของผู้เรียนสายวิชาชีพได้อย่างแน่นอน
          สำหรับโครงการที่เชฟรอนกับสถาบันคีนัน ร่วมมือกันนั้นเป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายเรียนรู้จากการทดลองจริงอย่างสนุกสนาน ทั้งนี้มองว่าการพัฒนาครูต้องใช้เวลา สิ่งที่สถาบันคีนันฯ เข้าไปช่วยระบบคือทำงานร่วมมือกับภาครัฐ เช่น เขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งก็มีข้อจำกัดเพราะผู้บริหารมักอยู่ไม่ครบ 4 ปี มีการเปลี่ยนบ่อยเพื่อย้ายไปอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น อีกปัญหาหนึ่งคือ มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่
          เกศรากล่าวว่า การดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ หลังจากมีการอบรมครูไปแล้วจะมีการติดตามไปดูการสอนในห้องเรียนว่ามีปัญหาอะไร ครูตั้งคำถามได้ดีหรือยัง มีการทำงานกันเป็นทีมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องการจัดค่ายกระตุ้นให้เด็กอยากเรียน ให้คิดวิเคราะห์เป็น และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งคอยแนะนำรุ่นน้องด้วย ที่ผ่านมาสถาบันคีนันเคยทำมาแล้วที่จังหวัดพังงา ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีมาก ดังนั้นจะนำไปทดลองทำนำร่องในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาต่อไป
          อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ CSR ด้านการศึกษาของเชฟรอนนี้ คาดหวังว่าครูจะนำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปใช้ในห้องเรียนจริงๆ ซึ่งโครงการที่ทำจะมีการติดตามใน 2 จุด คือครูใช้ในห้องเรียนจริง กับเรื่องผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ทัศนคติเด็ก โดยจะติดตามเรื่องเรียนต่อของเด็กว่าจะมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนสายวิทย์หรือไม่ เรียนวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้นไหม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดตอบโจทย์ของโครงการที่ดำเนินการไป โดย จะเห็นได้ว่าเชฟรอนเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามคุณเกศราระบุว่า ในอนาคตเป้าหมายสำคัญที่ SEAMEO Congress หวังไว้ก็คือ ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในสายอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์เรื่องทักษะอาชีพที่ภาคเอกชนต้องการในตลาดแรงงาน รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต่างส่งเสริมในเรื่องนวัตกรรม
          บรรยายใต้ภาพ
          เกศรา อมรวุฒิวร–จบ–

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ทันหุ้น