วันนี้ (17 มกราคม 2567) เวลา 11.00 น. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน STEM Synergy for Transforming the Future of Education ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะที่ 2 โดยมี ผศ.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ดาตุ๊ก ดร. ฮาบิบะ (Datuk Dr. Habibah Abdul Rahim) ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยฯ สิริพงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายด้านการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือการเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้มีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ปรับตัวในสถานการณ์ที่พลิกผันได้ตลอดเวลา เพราะผู้ที่สามารถใช้ความรู้ ทักษะชีวิต และอาชีพได้ดีกว่า จะมีโอกาสเหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาดและประสบความสำเร็จในอนาคต
การจัดงาน “STEM Synergy for Transforming the Future of Education การแชร์ผลลัพธ์ความสำเร็จและทิศทางการสานต่องาน Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ระยะที่ 2” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการรัฐร่วมเอกชนที่ดำเนินมายาวนานถึง 8 ปี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาอนาคตของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการจัดการสะเต็มศึกษา ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการบูรณาการความรู้ 4 สาขาวิชา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพสำหรับศตวรรษที่ 21
“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เป็นหนึ่งในนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียน เพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เยาวชนของไทย ในนามของ ศธ. พร้อมที่จะสนับสนุนสะเต็มศึกษา โดยยินดีที่จะให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่สามารถจัดสรรนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาสะเต็มศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อยกคุณภาพสะเต็มศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้ช่วยฯ สิริพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเผยแพร่ผลลัพธ์จากการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของโมเดลการดำเนินงานฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และผลักดันสู่การกำหนดนโยบายด้านสะเต็มศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพสะเต็มศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ: ปชส. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
17/1/2567