จังหวัดชลบุรี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมความพร้อมของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2560 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทั้งหลักสูตรในระบบการศึกษาปกติสำหรับนักศึกษา และหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องสำหรับแรงงานที่ประสงค์จะพัฒนาความรู้เพิ่มเติม กระทรวงศึกษาธิการจึงได้แจ้งข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมอบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในเรื่องนี้ โดยจัดการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดทำใน 2 เรื่องหลักตามลำดับ คือ
1) จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Workforce) สนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”
2) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งศูนย์ระดับภาค 1 ศูนย์ และศูนย์ระดับจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

แฟ้มภาพ: เมื่อครั้งที่ สอศ.จัดประชุมเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้
ภายหลังนายกฯ สั่งการเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา
ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2560) สอศ.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นศูนย์ระดับภาค จำนวน 1 ศูนย์ ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี และศูนย์ระดับจังหวัด จำนวน 13 ศูนย์ ที่ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยศูนย์หลักระดับจังหวัดของชลบุรี ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรีแห่งนี้ด้วย โดยนายประเวศ คำหงส์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์, ศูนย์หลักของจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง โดยนายวิมล จำนงบุตร เป็นผู้อำนวยการศูนย์, ศูนย์หลักของจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา โดยนายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ เป็นผู้อำนวยการศูนย์
การตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในครั้งนี้ จึงเป็นการตรวจความพร้อมของสถานที่ รวมทั้งได้ประชุมทางไกล (Web Conference) กับ 2 จังหวัด จากวิทยาลัยเทคนิคระยอง โดยมีนายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธานการประชุม และจากวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา โดยมีนายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธาน จากการตรวจเยี่ยมและประชุมร่วมกันครั้งนี้ทำให้มั่นใจว่า สอศ. ได้เตรียมการความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี โดยศูนย์แห่งนี้จะมี 5 ฝ่ายเพื่อปฏิบัติงาน คือ ฝ่ายข้อมูลกลาง ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ และฝ่ายวิจัยและพัฒนา
ในส่วนของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) เนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2560 จึงจะปฏิบัติงานตามแผนเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ปีงบประมาณ 2561-2564 จะเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบและขอความสนับสนุนต่อไป หลังจากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจาก 3 จังหวัดมาร่วมแถลงแผนงานยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนงานตามแผนระยะ 5 ปี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบร่วมกัน รวมทั้งจะนำความคิดเห็นจากที่ประชุมในวันนั้นไปปรับปรุงแผนให้สอดคล้องต่อตามความต้องการของพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญของศูนย์คือ การผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาสนับสนุน EEC และสนองตอบความต้องการกำลังคนในสาขาวิชา First S-Curve และ New S-Curve (ตามตารางข้างล่าง) ขอเน้นให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานและประเทศชั้นนำในเรื่องนั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เช่น แมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเยอรมนีมีความพร้อมเป็นอย่างมาก อาจจะจัดส่งครูช่าง 10-15 คนไปพัฒนาที่เยอรมนี หรืออาจขอความอนุเคราะห์ผ่านสถานทูตจัดส่งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาขยายถ่ายทอดให้แก่ครูช่างในประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าภายใน 1 ปี เราจะได้ครูที่มีขีดความสามารถสูงไปถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนได้ทั้งหลักสูตรการศึกษาปกติและหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง นอกจากนี้ขอให้เลขาธิการ กอศ.พิจารณาแผนดำเนินการในการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาสมรรถนะ” ในพื้นที่ เพราะจะมีส่วนสำคัญต่อการผลิตกำลังคนในสาขาพิเศษเหล่านี้
เป้าหมายการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาสนับสนุน EEC
เป้าหมายการผลิตกำลังคนสนองตอบความต้องการกำลังคน
ใน 16 สาขาวิชาที่เป็น First S-Curve และ New S-Curve
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้คำนึงถึงแผนการทำงานที่จะต้อง “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงการรับรู้ เพื่อมุ่งสู่บูรณาการ” กล่าวคือ ต้องวางแผนดำเนินการร่วมกับทุกฝ่ายทุกระดับให้มีครอบคลุมมากที่สุด และระหว่างการปฏิบัติงานขอให้มีการประเมินหรือทบทวนการปฏิบัติงาน (AAR: After Action Review) เป็นห้วง ๆ เพื่อจะได้รู้ว่างานที่เราทำไป มีอะไรที่จำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันต้องเร่งการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหน่วยงานก่อน เพื่อให้บุคลากรได้รับทราบและเข้าใจในเรื่องที่กำลังปฏิบัติร่วมกันก่อน เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจแล้วจะสามารถขยายผลไปยังประชาชน และหากทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันแล้วก็จะได้รับความร่วมมือมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การทำงานเชิงบูรณาการต่อไป.

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงโครงสร้างการบริหารงานของ “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC TVET Career Center) ย่อจาก Eastern Economic Corridor Technical and Vocational Education and Training Career Center มีคณะกรรมการบริหารงาน ระดับอำนวยการ โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นประธาน และระดับคณะกรรมการ โดยนายวิมล จำนงบุตร เป็นประธาน ซึ่งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีบุคลากรทั้งสิ้น 14 อัตรา คือ ผู้อำนวยการศูนย์ 1 ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่าย 5 ตำแหน่ง และเจ้าหน้าที่ 8 ตำแหน่ง ดังนี้
โครงสร้างการบริหารงานของคณะกรรมการสำนักงาน EEC
ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย ดังนี้
1) ฝ่ายข้อมูลกลาง มีหน้าที่
– ส่งเสริมการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษา
– รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านอุปสงค์ และอุปทาน เพื่อวางแผนกำลังคนในกลุ่ม EEC
2) ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ มีหน้าที่
– ส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการ
– พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ
– ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะผู้สำเร็จการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0
3) ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ มีหน้าที่
– สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบูรณาการความร่วมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่
– ส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และฝึกประสบการณ์ด้านวิชาชีพ
– บริหารจัดการกำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC และต่างพื้นที่ เพื่อให้มีกำลังคนอาชีวศึกษาใน EEC มีเพียงพอกับความต้องการของสถานประกอบการ
– บริหารจัดการระบบดูแล ช่วยเหลือผู้เรียน
– พัฒนาครูและบุคลากร
– จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้เรียนอาชีวศึกษา
4) ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ มีหน้าที่
– ส่งเสริมสนับสนุนการมีงานทำและการมีรายได้ระหว่างเรียน
– ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจที่ใช้นวัตกรรม
– Job Matching
5) ฝ่ายวิจัยและพัฒนา มีหน้าที่
– ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคน

ทั้งนี้ สอศ.ยืนยันความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไว้รองรับการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสนับสนุน EEC รวมทั้งการจัดหาครูผู้สอนให้เพียงพอ การพัฒนาครู การพัฒนาครูฝึกในสถานศึกษา ตลอดจนการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวให้แก่ครูอาชีวศึกษาต่อไป.

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความไว้วางใจให้จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ทั้งนี้ จังหวัดชลบุรีได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ไว้รองรับ EEC แล้ว

อนึ่ง ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ มีผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพีระ รัตนวิจิตร ศึกษาธิการภาค 9 (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด), นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, นายธานินทร์ ชลจิตต์ ศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา เขต 18, ผู้แทนสำนักงานแรงงานจังหวัด, ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน เป็นต้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
30/6/2560