สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ครั้งที่ 1/2557 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ที่ห้องประชุม สสค. 1 ชั้น 13 อาคาร IBM โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
● ผลการดำเนินงานของ สสค.
นายแพทย์ศุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. ได้รายงานสรุปให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานว่า สสค.ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 เพื่อทำหน้าที่ “เชื่อมช่วย” สร้างเครือข่าย ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ผ่านภาคท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ดำเนินภารกิจ 4 กลุ่มหลัก ที่มีนัยสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทย คือ
1) สนับสนุนนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยการทำให้ครูผู้ปฏิบัติริเริ่มจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย และบริบทของชุมชนท้องถิ่น ครอบคลุมทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมไปแล้วกว่า 2,000 โครงการใน 2,580 โรงเรียน มีเด็กเยาวชนได้รับประโยชน์กว่า 350,000 คน (ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนด้อยโอกาสมากถึง 250,000 คน)
2) พัฒนาสมรรถนะครูและเครือข่ายบุคลากร เพื่อสร้างค่านิยมครูสอนดี และส่งเสริมให้เป็นต้นแบบทั่วประเทศ โดยได้เฟ้นหาครูสอนดีที่ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” จากชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เกิดเครือข่ายบุคลากร และให้ทุนครูสอนดีเพื่อสอนเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส โดยในปีที่ผ่านมา สสค.ได้ต้นแบบครูสอนดี 18,870 คน และให้ทุนครูสอนดีเพื่อเด็กด้อยโอกาส 529 โครงการ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเด็กด้อยโอกาส 38,000 คน เด็กและเยาวชนทั่วไป 70,000 คน และเกิดเครือข่ายเพื่อการพัฒนากว่า 30,000 คน
3) ค้นหาและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดนำร่องทุกภาค โดยพัฒนาระบบดูแลเฉพาะตัว (CMU) สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาส สนับสนุนให้จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นจังหวัดนำร่องในทุกภาค
4) จัดการความรู้เชิงระบบ เพื่อให้ได้องค์ความรู้เชิงระบบและข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนานโยบาย โดยได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น UN, UNESCO, UNICEF, ธนาคารโลก เป็นต้น ที่ได้เน้นการศึกษาวิจัยเชิงระบบ วิจัยปฏิบัติการเชิงพื้นที่ เพื่อเตรียมชุดความรู้และต้นแบบสำหรับการพัฒนานโยบาย และร่วมพัฒนาหลักสูตรในส่วนทักษะชีวิตและโลกของงาน ซึ่งได้ดำเนินการจนเกิดระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษา (National Education Account : NEA) ที่ UNESCO ได้ให้ไทยเป็นประเทศต้นแบบด้วย นอกจากนี้ได้ร่วมสร้างชุดสิทธิประโยชน์เด็กด้อยโอกาส 9 ประเภท และ Unit Cost รวมทั้งมีการจัดทำ “แม่ฮ่องสอนโมเดล” ซึ่งเป็นรูปแบบในการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยบรูณาการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รมว.ศธ. ได้กล่าวแสดงความชื่นชมผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ สสค. ทั้ง 4 ภารกิจหลัก ซึ่งเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในระบบที่มี ศธ.ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่หากจะดูจากชื่อก็จะเห็นได้ว่า สสค.มีภารกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้นั้นไม่ได้มีเฉพาะในระบบการศึกษาหรือในโรงเรียนเท่านั้น จึงต้องการให้ สสค. สนับสนุนการเรียนรู้ นวัตกรรม และกิจกรรม สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เช่น เด็กที่ออกจากระบบการศึกษา ประชาชนทั่วไปทุกช่วงวัย เปรียบเสมือนกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ดูแลสุขภาพของคนในสังคมทั่วไป ไม่ได้ดูแลคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่แล้ว
● เห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการใน สสค.
ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษา
1) ที่ปรึกษาของ สสค. จำนวน 9 ราย คือ พระพรหมมังคลาจารย์ ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นางสาวเจือจันทร์ จงสถิตอยู่ นายชุมพล พรประภา นายมานิจ สุขสมจิตร นายสมพร ใช้บางยาง และนายนคร ตังคะพิภพ
2) คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางและนโยบาย โดยมีนางสุวรรณี คำมั่น เป็นประธาน นายนคร ตังคะพิภพ เป็นรองประธาน มีอนุกรรมการ ประกอบด้วย นางนภา เศรฐกร นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า นางปภัสวดี วีรกิตติ นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ นายนพพร สุวรรณรุจิ นายรังสรรค์ มณีเล็ก นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ นางเอื้ออารี หมื่นอินกุล
3) คณะอนุกรรมการเตรียมการเพื่อดำเนินภารกิจของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยมีศาสตราจารย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ศาสตราจารย์ภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ เป็นรองประธาน มีอนุกรรมการ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ นางสาวนวลอนันต์ ตันติเกตุ นายนพพร สุวรรณรุจิ
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 30/10/2557